ประวัติการสร้าง พระสมเด็จ หลังอุ
ในบรรดาพระเนื้อผงทั้งหมดทุกพิมพ์
ที่อธิษฐานจิตโดยท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต นั้น พระสมเด็จ หลังอุ
จะเป็นพระพิมพ์แรกที่ทุกคนใฝ่ฝันอยากจะเป็นเจ้าของกันแทบทุกคน พระสมเด็จ หลังอุ
ที่ได้นามว่า อุ ก็เพราะด้านหลังของพระสมเด็จพิมพ์นี้มีอักษรขอม
อ่านว่า อุ แกะลึกลงในพิมพ์พระเห็นได้ชัดเจน คำว่า อุ ย่อมาจากคำว่า อุดมหรืออุตมะ
มีความหมายถึงสูงสุด หรือประเสริฐสุด ซึ่งเป็นอักษรคำแรก
หรือสมณศักดิ์ของผู้สร้างพระสมเด็จ หลังอุ คือ ท่านเจ้าคุณพระอุดมสารโสภณ
จึงได้ถือเอามงคลนามที่ได้รับพระราชทานนี้ตั้งนามพระสมเด็จที่สร้างขึ้นว่า พระสมเด็จ หลังอุ
ท่านเจ้าคุณอุดมสารโสภณ
ได้สร้างพระสมเด็จ หลังอุ ประมาณกลางพรรษา ปี 2512 โดยสร้างขึ้นจากผงต่างๆ ดังนี้
1.
ผงแป้งเจิมพระพุทธมงคลนายก
ซึ่งเหลือจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจิมพระพุทธมงคลนายก
(ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามให้) ตอนถวายผ้าพระกฐิน พ.ศ.2508
2.
ผงธูปจากพิธีอธิษฐานจิตพระพุทธมงคลนายก
พระกริ่งเชียงแสน
3.
นอกจากนี้ยังมีผงพระเครื่องเก่าๆ
เช่น เศษแตกหักจากพระสรงน้ำสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ปี 84 และสรงน้ำเกาหลี ปี 93 และที่ท่านเจ้าคุณอุดมฯ เก็บสะสมไว้อีกด้วย
ฉะนั้น ผงต่างๆ
ดังกล่าว จึงเป็นวัตถุมงคลที่ผ่านการอธิษฐานจิตโดยท่านเจ้าคุณนรฯ มาแล้วครั้งหนึ่ง
ก่อนที่จะนำไปสร้างเป็นพระสมเด็จ หลังอุ สำหรับผู้แกะพิมพ์พระสมเด็จ หลังอุ ก็คือ คุณธีระศักดิ์
ธรรมชาตรี (นายช่างเล้ง) อยู่ อ.พนัสนิคม
จ.ชลบุรี) มีจำนวนสร้างทั้งสิ้น 3,000 องค์ เป็นพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ คล้ายสมเด็จวัดระฆังฯ มีขนาดด้านยาว 3.4 ซม. ด้านกว้างบน 2 ซม. ด้านกว้างล่าง 2.2 ซม. สีของพระจะเป็นสีขาวปนเหลือง
บางองค์สีเหลืองปนเทาก็มี ด้านหน้า และด้านหลังมีพิมพ์เดียว
หลังจากสร้างพระสมเด็จ
หลังอุแล้ว ก็ได้นำพระบางส่วนบรรจุไว้ในบาตรพระแล้วประพรมด้วยน้ำมันจันทน์
และน้ำอบไท อีกส่วนหนึ่งคุณอำไพ แก้วพงศ์ ได้มาเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า
ได้ไปทำถาดสังกะสี และนำพระที่เหลือมาเรียงซ้อนกันจนหมด แล้วจึงประพรมน้ำอบไท
และน้ำมันจันทน์ราดไปจนทั่ว ทิ้งไว้อย่างนี้หลายเดือน
ท่านเจ้าคุณอุดมฯ
และคุณอำไพ แก้วพงศ์ (หรือมหาอำไพ เคยบวชที่วัดเทพศิรินทร์)
ซึ่งได้สึกมาเป็นฆราวาสแล้ว ได้นำพระสมเด็จ หลังอุ จำนวน 800 องค์ ใส่พานนำไปให้ท่านเจ้าคุณนรฯ
อธิษฐานจิตในโบสถ์วัดเทพศิรินทร์ หลังจากที่ท่านทำวัตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว
เพื่อนำไปแจกเป็นของขวัญให้แก่ผู้มาร่วมงานมงคลสมรสของคุณอำไพ
ต่อมาเมื่อมีคณะที่ติดตามสมเด็จพระสังฆราช
วัดมงกุฏกษัตริยาราม ไปฮ่องกงครั้งนั้นมีท่านเจ้าคุณอุดมฯ พระปริยัติกวี
พระครูประสิทธิสารโสภณ พระมหาบรรจง และมี พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ เป็นไวยาวัจกร
และที่ฮ่องกงนั้นเอง ท่านเจ้าคุณอุดมฯ ได้นำพระสมเด็จ หลังอุ อีก 800 องค์ ถวายแด่สมเด็จพระสังฆราช
เพื่อทรงประทานแก่พุทธบริษัทชาวฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี
และชาวไทยในฮ่องกงที่คอยเฝ้ารับเสด็จ และสดับฟังธรรมของสมเด็จพระสังฆราช
ดังนั้นพระสมเด็จ หลังอุจึงแพร่หลายในต่างประเทศ คือ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเกาหลี
อีกด้วย