ประวัติการสร้างพระเครื่องชุดวัดวิเวกวนาราม
วัดวิเวกวนาราม
(คลอง16) อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา
ปลุกเสกผงโดยพระภิกษุ
ธมมวิตกโก ปี 2511 หนึ่งไตรมาส ณ พระอุโบสถ
วัดเทพศิรินทราวาส
และเข้าพิธีสวดพุทธคุณ เสาร์ที่ 5
ธันวาคม 2513 ณ พระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส
พระเครื่องพิมพ์ต่าง ๆ
ได้จัดสร้างขึ้นโดยคุณลุงแก้ว ศิริรัตน์
เพื่อไว้สมณาคุณแก่ผู้ร่วมบริจาคปัจจัยก่อสร้างศาลาการเปรียญของวัดวิเวกวนาราม ซึ่งคุณลุงแก้วเป็นไวยาวัจการอยู่
สำหรับพระเครื่องชุดนี้
นับได้ว่าขณะนี้อยู่ในความนิยมของผู้ที่ศรัทธาในองค์เจ้าคุณนรฯ เพราะเป็นพระเครื่องที่จัดได้ว่า การจัดสร้างถึงแม้แบบจะไม่งดงามนัก แต่มวลสารที่นำมาสร้าง ตลอดจนวิธีการจัดสร้างถูกต้อง
และการสวดพุทธคุณตรงกับวันเสาร์ 5
ซึ่งเป็นวันที่มีความหมาย เป็นวันฤกษ์ดี
ฤกษ์แข็งเหมาะแก่การทำพิธีอันเป็นมงคล
รวมทั้งผู้จัดสร้างมีเจตนาอันบริสุทธิ์
เมื่อท่านมีพระชุดนี้แล้ว
เมื่ออาราธนาขึ้นคอก็สบายใจได้
ไม่ต้องหวาดระแวงว่าของชุดนี้จะมีเสริม
หรือไม่ผ่านการแผ่อธิษฐานจิตหรือไม่
สมกับที่ท่านเจ้าคุณนรฯ
กล่าวไว้ว่า ของจริงนิ่งเป็นใบ้
ของพูดได้คือของไม่จริง
หมายถึงว่า การสร้างพระชุดนี้ ในสมัยนั้น
ไม่มีการโฆษณาเหมือนกับของที่อื่น
จะมีการโฆษณาแบบชนิดขายเป็นสินค้า
ประวัติความเป็นมาของพระชุดนี้ ในราวต้นปี พ.ศ.2511 คุณลุงแก้ว
ศิริรัตน์ พร้อมด้วยบุตร คือ นายแพทย์สุพจน์ฯ และปลัดอำเภอนายเชาว์ ศิริรัตน์
ได้เดินทางมากราบนมัสการ
ท่านเจ้าคุณนรฯ ณ พระอุโบสถ
วัดเทพศิรินทราวาส
หลังจากที่ท่านสวดมนต์ทำวัตร์เสร็จเรียบร้อย
โดยกราบเรียนในเรื่องการมาพบท่านในครั้งนี้ว่า ศาลาการเปรียญของวัดวิเวกวนาราม บัดนี้ได้ชำรุดโทรม จนไม่สามารถที่จะบูรณะใหม่ได้ ฉะนั้นแล้วคุณลุงแก้ว จะได้ปรึกษากับคุณแม่แปลก ศิริรัตน์
มารดาจะได้ดำเนินการก่อสร้างขึ้นใหม่ทั้งหลัง เพราะศาลาการเปรียญของวัดนี้ โดยปกติก็เป็นที่อาศัยเรียนของเด็ก ๆ
ในละเวกนั้น ด้วยเหตุนี้คุณแก้ว จึงได้กราบว่าจะนำผลพระที่ชำรุดแตกหักและเกษรดอกไม้มาบดให้ละเอียด นำมาให้ท่านอธิษฐานจิตให้
เพื่อที่จะได้นำผงชุดนี้ไปจัดสร้างเป็นพระเครื่องไว้แจกจ่ายให้กับผู้มีจิตศรัทธาบริจาคในการก่อสร้างศาลาการเปรียญ
และถ้าพระชุดเหลือจากการสร้างศาลาการเปรียญก็จะนำมาบรรจุไว้ในฐานชุกชีพระอุโบสถวัดวิเวกฯ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป ส่วนการจัดสร้างพระชุดนี้ เมื่อสำเร็จจะไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใด ๆ
ทั้งสิ้น ปัจจัยทุกบาททุกสตางค์จะนำเข้าวัดไว้สำหรับในการก่อสร้างทั้งหมด
ในขณะที่คุณลุงแก้ว กำลังบอกเล่าต่อท่านนั้น ปรากฎว่าท่านเจ้าคุณนรฯ มิได้พูดหรือว่ากล่าวอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่ได้นั่งขัดสมาธิหลับตานิ่งอยู่ประมาณ 15
นาที
ท่านจึงได้ลืมตาขึ้นมาพร้อมกับกล่าวว่า
อย่าได้นำพระไปบรรจุใต้ฐานพระประธานเลย
เพราะจะทำให้พระประธานเดือดร้อนในภายหลัง
เพราะถ้าพระชุดนี้เกิดภายหลังมีชื่อเสียงจนเป็นที่
รู้จักของบุคคลทั่วไป ก็อาจจะทำให้ผู้ที่อยากจะได้ไปลักลอบขุดทำลาย จะเป็นอันตรายต่อพระประธานก็เป็นได้
ถ้าจะให้ดีเมื่อโยมสร้างพระชุดนี้เสร็จก็นำไปแจกจ่ายให้กับผู้มีจิตศรัทธาให้หมดจะดีกว่า
พร้อมกันนี้ท่านก็ได้แนะนำคุณลุงแก้วว่า เมื่อนำผงมาจะให้อธิษฐานจิตละก็ ให้นำมาไว้ที่ระหว่างฐานชุกชีพระประธานภายในพระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส เพื่อจะได้ให้หลวงพ่อภายในโบสถ์และพระภิกษุ
สามเณร ที่ลงทำวัตรสวดมนต์
จะได้ช่วยกันปลุกเสกให้อีกด้วย
หลังจากที่ท่านได้แนะนำให้ ลุงแก้วได้ทราบรายละเอียดต่าง ๆ แล้ว ก็ได้พูดคุยอยู่กับท่านเจ้าคุณนรฯ ประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ
คุณลุงแก้วพร้อมด้วยบุตรชายทั้งสองจึงได้กราบนมัสการลากลับ เมื่อคุณลุงแก้วและบุตรออกมาจากพระอุโบสถ ก็พากันไปพบท่านเจ้าคุณพระสาสนโสภณ
(ซึ่งขณะนั้นยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมธมุนีอยู่) อดีตเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส และได้บอกเล่าว่าจะนำผงพระบรรจุใส่โหลแก้วมาไว้ภายในพระอุโบสถ เพื่อให้ท่านเจ้าคุณนรฯ และ พระภิกษุ สามเณร ภายในวัดปลุกเสก 1 ไตรมาส
(เพราะวัดนี้เป็นพระอารามหลวง
การจะทำอะไรจะต้องขออนุญาตจากเจ้าอาวาสก่อน) พร้อมกันนี้คุณลุงแก้ว
ก็ได้กราบเรียนต่อท่านเจ้าคุณพระสาสนโสภณ
ด้วยว่าจะนำบุตรชาย คือ นายเชาวน์ฯ
ซึ่งเป็นปลัดอำเภอจะลาราชการมาอุปสมบทที่วัดเทพศิรินทราวาส ด้วย
ในปี พ.ศ.2511
เมื่อท่านเจ้าคุณพระสาสนโสภณ
ได้ทราบจุดประสงค์ก็ได้อนุญาตให้ทุกประการ
แต่ในการนำมวลสารมาไว้ภายในพระอุโบสถวัดเทพฯ ของคุณลุงแก้ว
แปลกกว่าใคร คือวันที่นำเอามวลสารใส่โหลแก้วและปากโหลจะปิดด้วยผ้าขาว โดยอุ้มเวียนรอบพระอุโบสถ พร้อมนาคเชาว์
เมื่อครบ 3
รอบ
จึงได้นำไปตั้งไว้ภายในชุกชีพระอุโบสถ
โดยข้างโหลจะเขียนเป็นอักษรไทยว่า (ผงพระของวัดวิเวกวนาราม) ตอนที่พระเชาว์บวชอยู่ คุณลุงแก้วจะเดินทางมาทุกวันพระ
เพื่อรับศีลที่วัดเทพฯ
เป็นประจำและจะสังเกตว่า
ทุกครั้งที่พระภิกษุ สามเณร
ทำวัตรสวดมนต์เสร็จ ท่านเจ้าคุณนรฯ จะนั่งเพ่งไปยังโหลแก้วที่บรรจุผงมวลสาร นานประมาณ 5 นาที ทุกวันจนครบไตรมาส ( 1 พรรษา)
เมื่อออกพรรษาคุณลุงแก้วได้มากราบเรียนท่านเจ้าคุณนรฯ ว่าจะมารับผงมวลสารไปจัดสร้างพระ เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะนำมาให้ท่านอธิษฐานจิตให้อีกครั้ง
แต่ท่านเจ้าคุณนรฯ ได้ตอบปฏิเสธไปว่า ผงมวลสารนี้สำเร็จแล้วเป็นผงวิเศษ เมื่อนำไปจัดสร้างเป็นองค์พระแล้ว จะนำไปเข้าพิธีพุทธาภิเศกที่ไหนก็ได้ที่ใกล้กับวัด
ไม่จำเป็นต้องหอบพะรุงพะรังเอามาถึงที่ให้ลำบาก เพราะในสมัยนั้น วัดนี้การคมนาคมได้เฉพาะทางเรือเท่านั้น
ถ้าจะไปทางรถยนต์ลำบากมากเพราะถนนเข้าไม่ถึงวัด
เมื่อลุงแก้วนำผงมวลสารกลับไปยังบ้านที่ตลาดบางน้ำเปรี้ยว ก็ได้สั่งให้นายแพทย์สุพจน์ (ลูกชาย)
ติดต่อช่างแกะแม่พิมพ์ให้เพราะว่าหมอสุพจน์เข้ากรุงเทพฯ
บ่อยและรู้จักนายช่างแกะแม่พิมพ์จำนวนมาก
แต่ทางหมอสุพจน์นั้นมีงานทางราชการมากจึงไม่ได้ติดต่อเรื่องแม่พิมพ์ให้
จนลุงแก้วรอแม่พิมพ์จากลูกชายไม่ไหวจึงได้ให้ลูกชายอีกคนที่เป็นทันตแพทย์อยุ่ในตลาดคลองสิบหกใช้ยางวิทยาศาสตร์สำหรับทำแบบพิมพ์ฟัน มาทำการถอดพิมพ์พระเครื่องพิมพ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในบ้านเพื่อมาทำเป็นแม่พิมพ์ โดยคุณลุงแก้วได้ผสมผงมวลสารและพิมพ์เองที่บ้าน เพราะฉะนั้นพระชุดนี้ จึงไม่คมชัดและไม่สวยงามเหมือนชุดอื่น ๆ ส่วนผงมวลสารที่นำมาสร้างก็ไม่เข้ากัน บางองค์ก็แก่ผงเกษรและว่าน บางองค์ก็แก่ผงขี้ธูปบูชา พระบางองค์ก็แก่ผงวัดสามปลื้ม ฉะนั้นถ้าทุกท่านเคยเห็นของจริงมาก่อนต่อไป ถ้าพบเห็นอีกก็จะจดจำได้แม่น การสร้างพระของคุณลุงแก้ว
เมื่อเวลาพิมพ์เสร็จแต่ละองค์ก็จะนำพระไปตากไว้บนหลังคาหลังบ้านทุกครั้งในราวปลายปี
2512 นายแพทย์สุพจน์
ซึ่งเป็นบุตรได้เข้าไปกราบนมัสการท่านเจ้าคุณนรฯ ณ พระอุโบสถวัดเทพฯ ท่านเจ้าคุณนรฯ ได้บอกกับหมอสุพจน์ ว่าช่วยไปบอกโยมแก้วด้วย ผงมวลสารที่นำไปสร้างขอให้ทำระวังด้วยอย่าให้ตกหล่นลงในที่ต่ำ เพราะจะเป็นบาป คือผงสำเร็จแล้ว เมื่อหมอสุพจน์ได้ฟังก็ประหลาดใจมาก เพราะยังไม่ทราบว่าบิดาของตนพิมพ์พระ เนื่องจากตนเองยังไม่ได้ไปติดต่อแกะแม่พิมพ์ให้
ฉะนั้นพอวันอาทิตย์หมอสุพจน์จึงได้เดินทางกลับบ้านที่ตลาดคลองสิบหก จึงได้รู้ว่าบิดาได้พิมพ์ขึ้นไว้จำนวนมาก และได้เล่าให้บิดาของตนฟังว่า ท่านเจ้าคุณนรฯ เตือนมาอย่างนี้
เมื่อลุงแก้วได้ฟังก็พยายามนั่งทบทวนความจำว่าตนนำผงมวลสารไปตกหล่นไว้ที่ไหนบ้าง
แต่ก็นึกไม่ออกและก็พยายามจะหาว่าพระที่พิมพ์ตกอยู่ที่ไหน แต่ก็หาไม่พบ
จวบจนวันหนึ่งเกิดสังหรณ์ใจขึ้นมาจึงได้ชวนลูกชายที่เป็นทันตแพทย์ลองคุ้ยผงตามท่อระบายน้ำด้านหลังบ้านจึงได้พบว่าพระพิมพ์สมเด็จได้ตกอยู่ในท่อน้ำคลำ 1 องค์
เมื่อตอนข้าพเจ้าเดินทางไปพบลุงแก้ว
ลุงแก้วยังได้นำพระองค์นั้นมาให้ข้าพเจ้าได้ชม เรื่องนี้จึงถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกมาก ทำไม่ท่านเจ้าคุณนรฯ ถึงได้รู้ว่าพระตกลงไปในที่สกปรก ด้วยเหตุนี้ลุงแก้วจึงมีความศรัทธาต่อท่านเจ้าคุณนรฯ มาก เมื่อสร้างพระเสร็จจึงได้นำพระทั้งหมดใส่ถุงแป้งมัน นำมาเข้าพิธีในวันที่ 5 ธันวาคม 2513 โดยมอบหมายให้นายแพทย์สุพจน์ เป็นผู้นำกลับตอนเสร็จพิธี
สำหรับพระชุดนี้ลุงแก้วได้เล่าให้ฟังว่า ได้จัดสร้างขึ้นทั้งหมดประมาณ 20 กว่าพิมพ์
แต่ละพิมพ์จะมีจำนวนไม่มาก ส่วนมากจะเป็นสมเด็จ
และบางพิมพ์ก็จะมียันต์ด้านหลัง
บางพิมพ์ก็ไม่มี
ส่วนมากจะหลังเรียบ
ส่วนการปั๊มยันต์หมึก เนื่องจากได้เห็นพระของวัดสรรเพชญ์ที่นายแพทย์สุพจน์ นำไปให้และทำตรายางไปปั๊มในภายหลัง ส่วนที่ไม่ตรีตรายางก็มีจำนวนมาก เพราะแจกไปก่อน นอกจากนี้พระชุดนี้ได้จัดสร้างโดยใส่ถุงผ้าแป้งมัน จำนวน 5 ถุง เมื่อเสร็จพิธีนายแพทย์สุพจน์ได้นำส่งกลับไปให้เพียง
2ถุง
มอบให้อาจารย์เจือไปแจก 1 ถุง ไว้ที่วัดเทพฯ อีก 2 ถุง
เพราะหมอสุพจน์เคยเล่าให้ฟังว่า
พอเห็นพระของพ่อที่พิมพ์มาไม่สวยก็ไม่อยากได้ แม้แต่จะแจกให้ใครเขาก็ไม่สนใจ จึงได้ส่งกลับไปให้พ่อเพียง 2 ถุงเท่านั้น ในปี พ.ศ.2513 บางท่านยังจะคงจำได้ที่กุฎิเจ้าคุณอุดมฯ ตรงข้างโต๊ะจะมีถุงผ้าใส่พระและเขียนว่า วัดปากน้ำ
วางไว้อยู่ ณ บริเวณนั้น
ใครไปบูชาพระจากท่านเจ้าคุณอุดมฯ
เมื่อเอ่ยปากขอท่านเจ้าคุณอุดมฯ ก็จะบอกให้ล้วงเอาไป เพราะว่าไม่มีผุ้มารับเพราะเขาไม่เอา แต่ปัจจุบันนี้แสนจะหายากมาก แม้แต่ลุงแก้วเมื่อนำไปให้เจ้าอาวาสวัดวิเวกฯ (หลวงพ่อเงียบ) ไว้แจกให้กับผู้มาบริจาคสร้างศาลา หลวงพ่อยังเก็บไว้ในห้องไม่ยอมแจกเพราะหาว่าไม่สวยงาม ลุงแก้วจึงต้องนำมาเก็บรักษาไว้ที่บ้าน
และต่อมาก็นำพระไปบรรจุไว้ที่ฐานพระแก้วให้บูชา
หลังจากที่ท่านเจ้าคุณนรฯ
ได้มรณภาพลง พระเครื่องพิมพ์ต่าง
ๆ ที่ท่านได้สวดอธิษฐานจิตให้
ได้มีผู้นำไปใช้เกิดความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เลื่องลือไปทุกสารทิศ เมื่อรู้ว่าของดีที่น่าใช้ยังมีอยู่ที่ลุงแก้ว ต่างก็แห่กันไปขอ บ้างก็ขอจากหมอสุพจน์ จนพระชุดนี้หมดไปในเวลาอันรวดเร็ว
จนปัจจุบันนี้ พระชุดนี้แทบจะหาบูชาก็แสนจะยาก เพราะราคาการเช่าหาสูงมาก
ส่วนผสมของพระชุดนี้
ได้แก่
1.
พระสมเด็จวัดระฆังและสมเด็จกรุใหม่
จากวัดใหม่อมตรส ที่แตกหักได้มาเมื่อคราว
เปิดกรุใหม่
2.
พระสมเด็จวัดสามปลื้มแตกหัก จำนวนประมาณครึ่งปี๊ป ได้รับมอบจากท่านพระครูประสิทธิสมณการ เจ้าคณะ 8 วัดสามปลื้ม
3.
ผงตะไบจากชนวนกริ่งท่านเจ้ามาได้รับมอบจากท่านพระครูประสิทธิสมณการ
เจ้าคณะ8
4.
พระรูปเหมือนสมเด็จกรมหลวงชินวร สิริวัฒน์
สร้างจากผงขนาดหน้าตัก 7
จำนวน
2 องค์ที่หักชำรุด รุ่น พ.ศ.2485
5.
พระเครื่องพิมพ์ต่าง ๆ
ที่หักชำรุด โดยขอจากชาวบ้านตลาดคลองสิบหก
6.
พระเครื่องชนิดดินเผา
มีขุนแผนกำแพงเขย่ง
และพระจากกรุอยุธยาที่ชำรุด
7.
ผงนะซ่อนตัวของหลวงพ่อคล้าย วัดสวนขันธ์
8.
ชานหมากหลวงพ่อคล้าย วัดสวนขันธ์
9.
สีผึ้งและแป้งปลุกเสก โดยหลวงพ่อขอม
วัดไผ่โรงวัว
10.
แป้งดินสอพองที่นำไปให้ท่านเจ้าคุณนรฯ อธิษฐานจิตกรณีพิเศษ
11.
ใบโพธิ์จากต้นข้างโบสถ์วัดเทพศิรินทราวาส
12.
ใบโพธิ์จากต้นที่วัดโสธร และทองคำเปลวที่ปิดองค์หลวงพ่อโสธร
และขี้ธูปบูชาในอุโบสถหลวงพ่อโสธร
13.
ผ้ายันต์จากพระคณาจารย์ต่าง ๆ
ในสมัยเก่านำมาเผาผสม
14.
ดินสังเวชณียสถาน 4 แห่ง จากประเทศอินเดีย
15.
ว่าน 108 ชนิด และเกษรดอกไม้บูชาพระ จากที่บูชาหลายแห่ง
ฉะนั้น สรุปได้ว่าพระชุดนี้การจัดสร้างก็ดี การหามวลสารมาผสมก็ดี
รวมทั้งเจตนารมณ์ของผู้จัดสร้างก็มีความบริสุทธิ์ใจ จึงถือได้ว่า
เป็นพระเครื่องที่ดีอีกชุดหนึ่งของท่านเจ้าคุณนรฯ
ข้อมูลจากหนังสือกิตติคุณ พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิตย์ วัดเทพศิรินทราวาส
โดย. ท. สิริปญโญ