เรื่องเอาซองหนังสือราชการมาใช้ในกิจส่วนตัว
วันหนึ่งเวลาเที่ยงวัน พอสมเด็จพ่อฉันเพลเสร็จ ก็มีข้าราชการพลเรือนชั้นพิเศษศิษย์ของสมเด็จพ่อคนหนึ่งคลานเข้าไปกราบนมัสการสมเด็จพ่อแล้ว เอามือหยิบซองใส่หนังสือออกจากกระเป๋าเสื้อถวายสมเด็จพ่อแล้วกราบเรียนว่า
เกล้ากระผมได้เอากระดาษจดวันเกิดของบุตรมาถวาย เพื่อได้โปรดกรุณาตั้งชื่อให้บุตรเกล้ากระผมด้วย สมเด็จพ่อยื่นมือไปรับซองนั้นมาพลิกดูซองด้านหน้า แล้วก็พลิกดูด้านหลัง พลันสมเด็จพ่อก็พูดกับข้าราชการชั้นพิเศษคนนั้นว่า ซองนี้เป็นตราครุฑใช้เฉพาะในราชการเท่านั้น การที่เจ้าคุณลอบเอาซองราชการตราครุฑมาใช้ในกิจส่วนตัวเช่นนี้ย่อมไม่เป็นการถูกต้อง เรื่องนี้เป็นเรื่องเส้นผมบังภูเขา ถ้าคิดเพียงเผินๆ จะเห็นเป็นเรื่องเล็กไม่สลักสำคัญอะไร แต่เมื่อคิดให้ลึกซึ้งแล้วจึงเห็นเป็นเรื่องใหญ่ สมมติว่าประเทศไทยมีข้าราชการ 300,000 คนทุกคนลอบเอาซองราชการตราครุฑมาใช้ในกิจส่วนตัวคนละ 1 ซอง ราคาซองละ 10 สตางค์ รวมค่าซองตราครุฑที่ข้าราชการลอบเอาใช้ในกิจส่วนตัวจะเป็นเงินที่รัฐบาลต้องสูญเสียไปเปล่าๆ 30,000 บาท ฉะนั้น เจ้าคุณจงเอาซองตราครุฑนี้กลับคืนไปเปลี่ยนเอาซองไม่มีตราครุฑใส่กระดาษจดวันเกิดของลูกมาถวายฉันอีกครั้งหนึ่ง
ปรากฏว่าข้าราชการพิเศษผู้นั้นน้ำตาร่วงยกมือขึ้นพนมมือกราบเรียนสมเด็จพ่อด้วยเสียงตื้นตันรันทดว่า
เรื่องนี้เกล้ากระผมนึกไม่ถึง เกล้ากระผมขอสารภาพรับผิด ต่อไปเกล้ากระผมจะสังวรระวังไม่ประพฤติเช่นนี้อีก พลางรับซองตราครุฑไปจากสมเด็จพ่อ ล้ากราบนมัสการลากลับไปด้วยอาการเซื่อมซึมเพื่อนำไปเปลี่ยนซองใหม่
ดีแล้ว สมเด็จพ่อกล่าวสัมโมทนียกถา
นี่เป็นนิทัศนอุทาหรณ์แสดงให้เห็นว่า สมเด็จพ่อเป็นผู้ฉลาดสามารถในการปกครอง ในการแนะนำสั่งสอน มี
ความเพียรไม่เบื่อหน่ายในการอบรมศิษย์ มีความเมตตากรุณา มุทิตาโอบอ้อมอารี มีความห่วงใยในความเป็นอยู่และความประพฤติของศิษย์หวังเจริญสวัสดีแก่ศิษย์ แม้สึกหาลาเพศไปแล้วก็ยังหวังดีอุตส่าห์ตักเตือน พร่ำสอนเมื่อมีโอกาส ท่านจึงเป็นที่เคารพนับถือสักการบูชาของบรรดาศิษยานุศิษย์และสาธุชนทั่วกัน
ผู้เขียนได้ลาสิกขาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2468 สมเด็จพ่อได้กรุณารดน้ำมนต์ให้ศีลให้พรและมอบรูปของท่านขนาด 6 นิ้วแก่ผู้เขียน โดยท่านได้ลิขิตข้อความเป็นประกาศนียบัตรไว้ในรูปนั้นดังนี้
ที่ 210/4097 พระสาสนโสภณ ผู้อุปัชฌายะ
ให้พระจิตฺตภทฺโท มหาดเล็กวิเศษ อุ่ณห์จิตต์ นพรัก สัทธิวิหาริกที่ 1710 เป็นที่ระลึกในการซึ่งหมั่นเล่าเรียนศึกษา มีปฏิภาณปรีชา
สอบไล่นักธรรมตรีได้ชั้นเอกในสนามวัดเทพศิรินทราวาส พ.ศ. 2468 เป็นผู้เอื้อเฟื้อในกิจวัตร
ตั้งจิตปฏิบัติเรียบร้อยตามพระธรรมวินัย ควรชมว่าได้เป็นผู้มีจรรยาอันสุภาพดีผู้หนึ่ง แต่วันที่ 9 ตุลาคม พุทธศักราช2468
ผู้เขียนได้กราบขอบพระคุณท่านและกล่าวปวารณาตัวขอรับใช้ท่านตลอดไป
เมื่อวันเข้าพรรษาปี 2469 ผู้เขียนได้นำดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะไปถวายเข้าพรรษาสมเด็จพ่อที่กุฎีขณะท่านกำลังนั่งอ่านหนังสืออยู่ ณ ที่รับแขก เมื่อรับประเคนดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะแล้วท่านได้ปรารภกับผู้เขียนว่า
ฉันใฝ่ฝันอยากจะได้พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัยที่งาม ๆ ไว้บูชากราบไหว้สักองค์หนึ่งมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ก็ยังหาไม่ได้ เพราะไม่มีลูกศิษย์ลูกหาซึ่งเป็นชาวสุโขทัย หรือจังหวัดใกล้เคียงที่จะขอร้องให้ช่วยเสาะหาให้ บัดนี้ฉันได้ อุ่ณห์จิตต์ ซึ่งมีกำเนิดเป็นชาวสุโขทัยมาเป็นลุกศิษย์ของฉัน ฉันจึงขอฝากความหวังเรื่องนี้ไว้กับอุ่ณห์จิตต์ ด้วย
ผู้เขียนได้กราบเรียนท่านว่า เกล้ากระผมจะพยายามหามาถวาย แต่ต้องขอประทานเวลาสัก 2-3 เดือน
ช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร ฉันจะคอยฟังข่าวดีจากอุ่ณห์จิตต์ สมเด็จพ่อพูดให้กำลังใจ
กาลได้ล่วงมาประมาณ 2 เดือน ผู้เขียนก็โชคดีไปพบพระพุทธรูปสุโขทัยหน้านาง ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1 ฟุตเข้าองค์หนึ่ง มีพุทธลักษณะได้ส่วนสัดงามมาก ผู้เขียนขอบูชาจากเจ้าของแล้วรีบนำไปถวายสมเด็จพ่อโดยไม่ชักช้า
พอสมเด็จพ่อเห็นองค์พระพุทธรูปเข้าเท่านั้น ท่านก็ยื่นมือออกมาประคองรับพระไปจากผู้เขียน พลางอุทานด้วยความปรีดาปราโมทย์ว่า
ฉันขอขอบใจอุ่ณห์จิตต์เป็นอันมากที่ช่วยเอื้อเฟื้อหาพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ซึ่งงามอย่างไม่มีที่ติมาให้ฉันบูชาสมดังใจหมาย ต่อแต่นี้ไปฉันไม่ปรารถนาสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวของฉันอักแล้ว
เมื่อคิมหันต์ฤดูปี 2470 เวียนมาถึง ผู้เขียนได้พิจารณาเห็นสมควรนิมนต์สมเด็จพ่อ ซึ่งเป็นกรรมการราช-บัณฑิตยสภาและเป็นผู้สนใจในเรื่องโบราณวัตถุสถานไปทัศนาจรเมืองพระร่วง ( สุโขทัยและศรีสัชนาลัย ) ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของผู้เขียน เพื่อประดับความรู้และเป็นการพักผ่อนหย่อนอารมณ์ของสมเด็จพ่ออีกด้วย เมื่อผู้เขียนนำความไปกราบเรียนให้ท่านทราบ โดยผู้เขียนรับอาสาเป็นผู้อำนวยการเดินทางถวายความสะดวกสบายในเรื่องยานพาหนะเรื่องที่พักแรมและการขบฉันโดยตลอดทั้งไปและกลับ ท่านก็เห็นพ้องด้วย กำหนดการเดินทางไปในวันที่ 15 เมษายน 2470 โดยทางรถไฟ
เมื่อถึงวันเดินทาง ผู้เขียนได้ไปรับท่านพร้อมด้วยผู้ติดตามอีก 3 คนจากวัดเทพศิรินทราวาสไปยังสถานีกรุงเทพฯ ขึ้นโดยสารรถไฟไปลงที่สถานีชุมทางบ้านดารา-สวรรคโลกไปลงที่สถานีสวรรคโลก พักที่เรือนรับรองของอำเภอสวรรคโลกด้วยความเอื้อเฟื้อของนายอำเภอสวรรคโลก
รุ่งขึ้นวันที่ 16 เมษายน 2470 หลังจากฉันภัตตาหารเช้าแล้ว ผู้เขียนก็นิมนต์สมเด็จพ่อพร้อมด้วยผู้ติดตามขึ้นรถยนต์เดินทางยังสุโขทัยชมโบราณวัตถุสถานที่เมืองสุโขทัยเก่า อาทิ วัดมหาธาตุที่ซึ่งขอมดำดิน ( พระยาเดโช ) โผล่ขึ้นมาเพื่อจะฆ่าพระร่วง เนินประสาทวัดศรีสวาย วัดตระพังเงิน วัดเชตุพน ศาลหลักเมือง วัดชนะสงคราม วัดเขาพระบาทน้อย วัดตระพังทอง วัดสระศรี วัดตระกวน ศาลตาผ้าแดง ถนนพระร่วง วัดพระพายหลวง วัดศรีชุม เตาทุเรียง วัดสะพานหิน วัดเจดีย์งาม หอเทวาลัยมหาเกษตรพิมาน วัดตึก วัดป่ามะม่วง วัดเจดีย์สี่ห้อง วัดตระพังทองหลวง วัดช้างล้อม วัดเจดีย์สูง วัดต้นจันทน์ วัดมังกรและวัดถ้ำหีบ แล้วเดินทางกลับมาแวะชมโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์สถานวัดราชธานี และเยี่ยมสถานที่ราชการบางแห่งของจังหวัสุโขทัยแล้ว กลับไปพักแรมที่อำเภอสวรรคโลก
วันที่ 17 เมษายน 2470 เวลา 8.00 น. สมเด็จพ่อและคณะได้เดินทางโดยรถยนต์ไปลงที่หลักกิโลเมตร 16 ถนนสายสวรรคโลก-ศรีสัชนาลัยแล้วลงเรือข้ามฟากไปยังตะวันตกของแม่น้ำยม อันเป็นที่ตั้งกรุงศรีสัชนาลัย แห่งแรกที่ไปชมคือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ กุฎีพระร่วง วัดเจ้าจันทน์ วัดโคกสิงราม วัดกูบ วัดสระประทุม วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดสวนแก้ว วัดนางพระยา หลักเมือง พระราชวัง วัดเขารังแร้ง วัดพนมเพลิง วัดช้างล้อมและแก่งหลวง ครั้นได้เวลาอันสมควรสมเด็จพ่อและคณะได้เดินทางกลับสู่ที่พักอำเภอสวรรคโลก
ตอนค่ำวันนั้นสมเด็จพ่อได้แสดงพระธรรมเทศนาเรื่อง ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ให้ราษฎรชาว สวรรคโลกประมาณ 1,200 คนที่ชุมนุมฟัง ( ตามคำประกาศป่าวร้องของนายอำเภอสวรรคโลก ) ที่หน้าเรือนรับรอง
เมื่อสมเด็จพ่อแสดงเทศนาจบลงแล้ว บรรดาราษฎรที่มาฟังต่างแซ่ซ้องการสาธุการเป็นเสียงเดียวกันว่าท่านเทศน์สั่งสอนอย่างดีวิเศษเหลือเกิน ตั้งแต่เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ไม่เคยได้ฟังเทศน์ที่ดีและเข้าใจง่ายอย่างนี้เลย สาธุ
วันที่ 18 เมษายน 2470 เวลา 9.00 น. ผู้เขียนได้นำสมเด็จและผู้ติดตาม 3 คนขึ้นรถยนต์จากอำเภอสวรรคโลกไปจังหวัดพิษณุโลก เพื่อนมัสการพระพุทธชินราชตามความประสงค์ของสมเด็จพ่อ เมื่อถึงจังหวัดพิษณุโลก รถยนต์ของเราได้ไปหยุดที่หน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช ผู้เขียนได้นิมนต์สมเด็จพ่อลงจากรถยนต์ นำท่านและผู้ติดตามบ่ายหน้าไปที่พระวิหารพระพุทธชินราชก่อนจะเข้าไปในวิหารจะต้องผ่านประตูทำด้วยไม้สัก ซึ่งมีลวดลายทองประดับมุกงดงามมาก สร้างในรัชกาลพระเจ้าบรมโกษฐ์ เมื่อพ.ศ. 2283 ตรงกลางสันประตูที่เรียกว่า อกเลา นั้นทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนแกะเป็นอุณาโลมอยู่ในบุษบก มีรูปหนุมานแบกบุษบกไว้ ทั้งสองเป็นรูปฉัตร ประชาชนส่วนมากนิยมนับถือกันว่าผ้าที่พิมพ์ด้วยหมึกดำออกจาก อกเลา นี้เป็นผ้าประเจียดศักดิ์สิทธิ์ สามารถทำให้ อยู่ยงคงกระพันและป้องกันภยันตรายต่าง ๆ ได้ พอสมเด็จพ่อก้าวเข้าประตูพระวิหาร มองไปเห็นพระพุทธชินราชเป็น ครั้งแรกในชีวิตสมเด็จพ่อก็หยุดตะลึงแลจ้องดูพระพุทธชินราชอยู่ครู่หนึ่งแล้วจึงเดินเข้าไปจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธชินราชแล้วนั่งลงบนอาสนะกราบนมัสการด้วยเบญจางคประดิษฐ์เสร็จแล้วท่านก็เพ่งพินิจดูพระพักตร์ พระศอ พระอุระ พระพาหา พระกร พระหัตถ์ และพระบาทแล้วยังไม่สมใจ ท่านลุกขึ้นเดินไปดูทางเบื้องซ้ายขององค์พระพุทธชินราช แล้วย้ายมาดูทางเบื้องขวาแล้วไปนั่งพับเพียบอยู่ตรงพระพักตร์ของพระพุทธชินราชอีกครั้งหนึ่ง พลางกล่าวกับผู้เขียนว่า
ตั้งแต่ฉันเกิดมา ฉันไม่เคยเห็นพระพุทธรูปหล่อขนาดใหญ่ที่ไหนมีพุทธลักษณะงดงามอย่างไม่มีที่ติเหมือนหลวงพ่อพระพุทธชินราช ซึ่งในตำนานกล่าวไว้ว่า พระมหาธรรมราชาลิไทยหรือพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกกษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์พระร่วงเป็นผู้สร้าง โดยโปรดให้ช่างเมืองชะเลียง ( สวรรคโลก ) เชียงแสนและหริภุญไชยร่วมมือกันประสมดินและแกลบปั้นหุ้นเป็นพระพุทธเจ้า 3 รูป คือพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศาสดาให้เหมือนพิมพ์เดียวและใหญ่เล็กเท่ากัน ครั้นเป็นเบ้าคุมพิมพ์แล้วจึงเอาพิมพ์เข้าเตาแล้วเอาทองสัมฤทธิ์หล่อให้พร้อมกันทั้ง 3 รูป ปรากฎว่า รูปพระพุทธชินสีห์ และพระศาสดาทั้งสององค์นั้นแล่นเสมอกันเป็นองค์พระบริบูรณ์ ส่วนพระพุทธชินราชนั้นทองไม่แล่นเสมอกันมิได้เป็นองค์เป็นรูป แม้ช่างพยายามหล่อถึงสามครั้งก็มิได้เป็นองค์ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกและเจ้าประทุม-เทวีพระมเหสีจึงทรงตั้งสัตย์อธิษฐาน ขอให้การหล่อพระพุทธชินราชจงเป็นผลสัมฤทธิ์เถิด ก็ร้อนถึงอาสน์พระอินทร์ ๆ จึงเนรมิตเป็นตาปะขาวลงมาช่วยทำรูปพระคุมพิมพ์ปั้นเบ้าและทำตรีศูลไว้ที่พระนลาฏให้เป็นสำคัญ ให้รู้ว่าพระอินทร์ ลงมาช่วย เมื่อพิมพ์พระพุทธรูปแห้งแล้ว จึงให้ช่างตั้งเตาหล่อพระพุทธชินราช ด้วยอานุภาพพระอินทร์ทองก็แล่นเสมอกันสำเร็จเป็นองค์พระพุทธชินราชบริบูรณ์ทุกประการหาที่ติมิได้ ครั้นแล้วตาปะขาวก็เดินขึ้นไปทางเหนือ ถึงหมู่บ้านหนึ่งก็อันตรธานหายตัวไป พระพุทธชินราชจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่พระอินทร์สร้าง โดยมีตรีศูลไว้ที่พระนลาฎเป็นสัญญลักษณ์ พระพุทธชินราชจึงเป็นพระพุทธรูปที่งดงามหนักหนาและศักดิ์สิทธิ์มาก
สมเด็จพ่อได้ใช้เวลานับเป็นชั่วโมงสงบองค์สงบอารมณ์อยู่ในสุนทรียสถานแห่งพระวิหารพระพุทธชินราชและท่านคงมีความสุขอย่างประหลาดเมื่ออยู่ต่อหน้าพระพุทธชินราช จนถึงเวลาเดินทาง สมเด็จพ่อพร้อมด้วยผู้เขียนและผู้ติดตาม 3 คนก็กราบนมัสการพระพุทธชินราช ไปโดยสารรถไฟที่สถานีพิษณุโลกกลับสู่พระนครด้วยความสวัสดิภาพ
3 ปีต่อมาถึงเทศกาลวันเข้าพรรษาผู้เขียนได้นำดอกไม้ธูปเทียนไปถวายเข้าพรรษาสมเด็จพ่อเช่นเคย เมื่อท่านได้ถามถึงทุกข์สุขและเรื่องอื่น ๆ แล้ว ท่านปรารภกับผู้เขียนว่า
เวลานี้ฉันพร้อมด้วยอุบาสกอุบาสิกาและพ่อค้าประชาชนชาวชลบุรี กำลังทำการซ่อมพระอุโบสถ วัดเขาบาง-ทราย ชลบุรี เปลี่ยนแปลงจากเดิมขยายให้กว้างขวางงดงามยิ่งขึ้น ประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำลงรักปิดทองประดับกระจก เขียนลายผนังติดดาวเพดาน หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ประกอบช่อฟ้าใบระกา ยังติดขัดอยู่อย่างเดียวคือใบเสมาที่จะหาไปประดิษฐานรอบพระอุโบสถแทนของเดิม ซึ่งมีขนาดค่อนข้างเล็ก และเวลานี้ได้ชำรุดแตกหักหลายแผ่นไม่เหมาะสมกับพระอุโบสถซึ่งขยายให้กว้างขวางกว่าเดิม สมควรจะหาใบเสมาไปเปลี่ยนเสียใหม่ เลยทำให้ฉันหวนระลึกถึงเมื่อคราวอุ่ณห์จิตต์นิมนต์ฉันไปชมโบราณสถานที่เมืองสุโขทัยเก่าขึ้นมาได้ คือระหว่างที่เดินชมวัดต่าง ๆ อยู่นั้น ฉันเห็นใบเสมาที่ประดิษฐานอยู่ในบริเวณวัดต่าง ๆ หลายวัดหลุดล้มจากแท่นที่ประดิษฐานลงมากองอยู่ที่บนพื้นดินก็มี จมลงไปในดินก็มี โดยไม่มีใครสนใจปล่อยให้ตากแดดตากฝนอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะหักพังจมดินจมทรายไปเอง เป็นที่น่าเสียดายนักฉันพิจารณาเห็นว่า ถ้าหากได้ใบเสมาเหล่านั้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาบางทรายแทนใบเสมาของเดิมแล้วจะเป็นดีไม่น้อย ขอให้อุ่ณห์จิตต์ช่วยกันคิดเป็นการเอาบุญว่าจะมีทางใดบ้างที่จะได้ใบเสมาดังกล่าวนั้น
ผู้เขียนได้กราบเรียนว่า เกล้ากระผมเห็นพ้องด้วย ยินดีให้ความร่วมมือกับวัดเขาบางทรายตามที่สมเด็จพ่อปรารภ เกล้ากระผมจะเดินทางไปพบผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ทาบทามเรื่องนี้ดูก่อน ได้ความประการใดเกล้ากระผมจะมากราบเรียนให้ทราบ
ต่อมาอีก 2 วันผู้เขียนได้เดินทางไปจังหวัดสุโขทัย เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยเรียนเล่าเรื่องใบเสมาที่สมเด็จพ่อปรารภให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบโดยละเอียด
ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยตอบว่า การที่ใบเสมาต้องหลุดล้มลงมาตากแดดตากฝนอยู่เช่นนั้นก็เพราะจังหวัดไม่มีเงินงบประมาณที่จะบูรณะซ่อมแซมนั่นเอง เมื่อวัดเขาบางทรายจะขอเอาไปทำประโยชน์ที่วัดเขาบางทรายชลบุรี จังหวัดก็ไม่ขัดข้อง ยินดีถวายและอนุญาตให้ขนไปได้ตามจำนวนที่ต้องการ
ผู้เขียนได้กล่าวขอบคุณในความเอื้อเฟื้อของผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยและได้เรียนท่านว่า
เพื่อความสะดวกรวดเร็วในนามของวัดเขาบางทรายชลบุรี ผมจะขอเป็นตัวแทนเอาใบเสมาบรรทุกรถยนต์ไปถวายวัดเขาบางทรายชลบุรีเลยทีเดียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยอนุมัติ
เช้าวันรุ่งขึ้นผู้เขียนได้นำรถยนต์ไปบรรทุกใบเสมาดังกล่าวที่เมืองสุโขทัยเก่าไปบรรทุกรถไฟที่สถานีสวรรคโลก ส่งไปถวายวัดเขาบางทรายชลบุรีต่อไป แล้วผู้เขียนก็เดินทางกลับกรุงเทพ ฯ กราบเรียนผลการปฏิบัติให้สมเด็จพ่อทราบ สมเด็จพ่ออนุโมทนาผู้เขียนแลบอกว่า
ฉันจะจัดการประดิษฐานใบเสมาเหล่านั้นไว้รอบพระอุโบสถวัดเขาบางทรายชลบุรีต่อไป ฉันหวังว่าเมื่ออุบาสกอุบาสิกา พ่อค้าประชาชนชาวชลบุรีได้เห็นใบเสมาเหล่านั้นแล้ว จะต้องถามว่าได้ใบเสมามาจากไหน ใครเป็นผู้นำมาถวาย เมื่อทราบแล้วคงจะพากันโมทนาและจำชื่ออุ่ณห์จิตต์ผู้นำมาถวายไปชั่วกาลนาน
เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2487 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีคำสั่งย้ายผู้เขียนจากกรมที่ดินไปรับราชการตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุโขทัย ผู้เขียนได้ไปกราบลาสมเด็จพ่อที่วัดเทพศิรินทราวาสแต่ไม่พบเพราะท่านไปพักผ่อนอยู่ที่วัดเขาบางทรายชลบุรี ผู้เขียนจึงฝากบัตรลาไว้กับพระครูวรวงศ์ ( จรูญ ) ขอให้ท่านช่วยส่งไปถวายสมเด็จพ่อที่จังหวัดชลบุรีด้วย
เมื่อผู้เขียนเดินทางไปรับตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุโขทัยได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ผู้เขียนได้รับจดหมายของสมเด็จพ่อส่งมาถึงผู้เขียนโดยทางไปรษณีย์ มีข้อความดังต่อไปนี้
วัดเขาบางทรายชลบุรี
23 กันยายน 2487
นายอุ่ณห์จิตต์ นพรัก สัทธิวิหาริก
ฉันได้รับบัตรลาแล้ว จงมัสติสัมปชัญญะให้มากซื่อสัตย์สุจริตเต็มที่ในหน้าที่
ตำแหน่งนี้รู้สึกว่าเหมาะมาก อยู่ติดกับชาติภูมิของตน ข้อสำคัญที่สุดคือใกล้กับคุณพ่อ
มีโอกาสได้บำเพ็ญปิตุปัฎฐานธรรมได้ดี ขออวยพรให้มีอายุยืนนาน เกษมสำราญห่าง
โรคาพาธ แคล้วคลาดปราศจากภัยพิบัติอุปัทวันตรายทั้งปวงทั้งครอบครัว
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
พระอุปัชฌายะ
แม้ผู้เขียนต้องย้ายไปอยู่ห่างไกลสมเด็จพ่อแต่เมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษาผู้เขียนจักต้องนำดอกไม้ธูปเทียน เครื่องสักการะไปถวายเข้าพรรษาสมเด็จพ่อทุกปี ไม่เคยขาดเลยนับตั้งแต่ผู้เขียนลาสิกขา ปี 2468 เป็นต้นมาจนถึงปีสมเด็จพ่อมรณภาพ
สมเด็จพ่อเป็นพระสงฆ์องค์เดียวที่ดำรงตำแหน่งในวงการคณะสงฆ์มากมายหลายตำแหน่งเป็นประวัติการณ์ คือ
1. เป็นกรรมการราชบัณฑิตยสถาน
2. เป็นผู้อำนวยการสอบพระปริยัติธรรมสนามหลวง
3. เป็นเจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรีและมณฑลจันทบุรี
4. เป็นผู้ถวายพระธรรมเทศนาพระมงคลวิเสสกถาในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษารัชกาลที่ 6-7-8และ 9
รวม 25 ศก
5. เป็นมหาสังฆนายกเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ
6. เป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคมบัญชาการคณะสงฆ์
7. เป็นประธานสังฆนายก
8. เป็นประธานคณะวินัยธร
9. เป็นสังฆนายกจนถึงวันมรณภาพ
10.เป็นเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส 50 ปีเศษ
สมเด็จพ่อเป็นพระอุปัชฌาย์บวชภิกษุ 4,847 รูป เป็นพระอุปสัมปทาจารย์ 364 รูป เป็นพระอุปัชฌาย์บวชสามเณร 1,455 รูป รวมทั้งสิ้น 6,666 รูป ( 6 สี่ตัวน่าอัศจรรย์ไหมท่าน )
วงการสงฆ์ของประเทศไทยต้องสูญเสียสมเด็จพ่อ ซึ่งเป็นช้างเผือกของชาวชลบุรีและเป็นเพชรน้ำเอกของสังฆมณฑลไปเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2494 ด้วยโรคเนื้องอกที่ตับ ยังความเศร้าโศกสลดรันทดใจแก่สังฆมณฑล ศิษยานุศิษย์ และผู้ที่มีความเคารพนับถือท่านอย่างสุดจะพรรณนา คำนวณอายุได้ 80 ปี พรรษา 59
ผู้เขียนได้จดจำวันมรณภาพของสมเด็จพ่อไว้ในความทรงจำอย่างไม่มีวันลืม วันที่ 8 มิถุนายน ทุกปีผู้เขียนจักต้องบำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลถวายท่านทุกปีไม่เคยขาดเลย
.ข้าพเจ้าขอภาวนา ให้บรรดาผู้นำทั้งหลายจะเป็นผู้นำหมู่คณะหรือนำโลก ก็ดี จงได้มีคุณธรรมเหล่านี้เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในขอบข่ายที่อาจจะช่วยเหลือกันได้ ได้รับความเห็นอกเห็นใจ ด้วยเมตตาที่ประกอบด้วยธรรม อย่างเพียบพร้อมด้วยเถิด และถ้าเป็นไปได้ ขอให้ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จนั่นแหละได้มาเกิด เป็นผู้นำในทางวิญญาณ ในขณะที่โลกเต็มไปด้วยวิกฤติกาล อันโหดร้ายยิ่งขึ้นทุกทีนี้เทอญฯ
.........................................................................