
เกียรติคุณสมเด็จฯ
โดย
ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล
.....พวกเรามีทุกข์สุขอย่างไร ก็ได้พึ่งท่านจนรู้สึกเหมือนท่านเป็นญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง
..
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรเถร)เป็นพระประจำตระกูลของ ดิศกุล ตั้งแต่ พ.ศ. 2447 นั้นถ้าเป็นผู้ชายก็ ผูกมือให้เอง ถ้าเป็นผู้หญิงก็เอาสายสิญจน์วางให้ข้างเบาะ เมื่อแม่ข้าพเจ้าถึงแก่กรรม, สมเด็จฯท่านก็เป็นผู้นำศพไปเผายัง วัดเทพศิรินทร์ มีตาลปัตรปักในงานศพนั้นเล่มเดียวสำหรับถวายสมเด็จฯพวกเรามีทุกข์สุขอย่างไรก็ได้พึ่งท่าน จนรู้สึกเหมือนท่านเป็นญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง
สมเด็จฯเคยถามข้าพเจ้าว่า " ท่านหญิงทรงทราบไหมว่าทำไมเสด็จพ่อจึงทรงเมตตาแก่อาตมาภาพ เพราะเวลานั้นก็ยังหนุ่มเต็มที่" (ท่านมีสมณศักดิ์เป็นเพียงพระราชมุนี) ได้เรียนตอบท่านว่าไม่ทราบ เป็นเคนได้ยินท่านทรงเล่าว่า เมื่อ งานศพแม่จะถวายศพจะถวายรถม้าเป็นสังเค็ดก็ไม่เอา จะถวายเรือ 4 แจวก็ไม่เอา เข้าใจว่าทรงนับถือความรู้และความปฏิบัติเป็นอันมาก หนังสือที่ทรงแต่งบางเรื่องที่ยังไม่แน่พระทัย ก็เคยส่งมาถวายสมเด็จฯตรวจแก้ เวลาท่านทรงพบกัน ก็ทรงคุยกันทางวิชาการได้นานๆ ก่อนวันเสด็จพ่อสิ้นพระชนม์วันหนึ่ง (คือบ่าย 16 น. วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน 2486) ได้ตรัสสั่งให้หลวงสกลคณารักษ์เอารถไปรับสมเด็จฯ มาจากวัดเทพฯ แล้วเสด็จออกไปประทับคุยกับสมเด็จฯ ที่เฉลียง ตรัสถามสมเด็จฯ ว่า " คนที่อยากตายนั้นบาปหรือไม่?"
สมเด็จฯ ทูลตอบว่า "ไม่บาป แต่ไม่ถูก เพราะไม่อยู่ในบังคับของใคร"
ตรัสว่า "กระผมอยากพบท่านก็เพราะมีห่วงในเรื่องวงการสงฆ์ ขออย่าให้แตกกันเพราะ พระจะเป็นหลักของบ้านเมือง จงระวังให้มาก เรื่องมันลึกซึ้งเกินกว่าเจ้าคุณจะรู้ได้"
แล้วต่างองค์ก็ต่างนิ่งกันไปนาน แล้วเสด็จพ่อก็ตรัสขึ้นว่า "กระผมคงจะได้คุยกับเจ้าคุณครั้งนี้เป็นครั้งหลัง" แล้วก็ตรัสกับหลวงสกลคณารักษ์ว่าให้เอารถไปส่งสมเด็จฯ สมเด็จฯ ท่านก็ถวายพระพรลากลับ รุ่งขึ้นเวลาบ่าย 13 น. 30 นาที เสด็จพ่อก็สิ้นพระชนม์ พอบ่าย 17 น. สมเด็จฯ ท่านก็มาถึงวังองค์เดียว ท่านบอกว่าคนไปรษณีย์บอก ท่านไม่เชื่อท่าน ก็อาศัยรถเขามาทันทีไม่ทันบอกใคร แล้วท่านก็เข้าไปนั่งอยู่ข้างพระศพมองดูอยู่นาน น้องชายข้าพเจ้าเอาน้ำชาไปถวายท่านยื่นมือมารับด้วยมืออันสั่นเทา ตั้งแต่วันนั้นมาข้าพเจ้าก็ได้เห็นสมเด็จฯ ท่านเดินถือไม้เท้าเป็นครั้งแรก ท่านคงจะปลงได้ด้วยยากดอกกระมัง
สมเด็จฯ ท่านเคยสั่งสอนข้าพเจ้าว่า "การที่จะเข้าใจพระธรรมได้นั้น จะต้องมีบุญหลังมาด้วยเพราะไม่ใช่ของง่าย ท่านหญิงก็ได้ทรงทราบมาถึงเพียงนี้แล้ว ขอให้อุตส่าห์เล่าเรียนต่อไป จะได้ช่วยพระศาสนาให้แพร่หลาย เพราะได้ทรงมีโอกาสรู้จักพวกชาวต่างประเทศอยู่มากมาย" ข้าพเจ้าได้กราบเรียนท่านว่า "เป็นของยากที่จะทำตามได้ในเวลาที่ต้องยังอยู่กับโลก ถ้าดิฉันได้ไปอยู่เสียในต่างจังหวัดเมื่อใดก็คงจะทำได้" ท่านกลับย้อนว่า "ถ้าออกไปอยู่ในที่สงบสงัดอย่างนั้นก็ไม่มีอะไรจะต้องทำ ถ้าจะทำในเวลาที่มีอะไรให้ทำ" ข้าพเจ้ายอมแพ้ท่าน และพนมมือเรียนรับสารภาพว่า "มันเผลอบ่อยๆ" ท่านก็หัวเราะ ไม่ว่าอะไร
อีกครั้งหนึ่งเมื่อพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต ข้าพเจ้าได้รับความทุกข์จากการเปลี่ยนแปลง จากสงคราม จากเสด็จพ่อสิ้นพระชนม์รวมแล้วรู้สึกเหมือนถูกเฆี่ยนจนน่วมไปทั้งตัว ตกอยู่ในความมืดหาแสงสว่างไม่มีเลย เผอิญพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ทรงเลือกเองให้ข้าพเจ้าไปถวายพงศาวดารไทย เพราะตรัสว่าอยู่กับเสด็จพ่อคงจะรู้ดี ข้าพเจ้าไปเฝ้าถวายตามพระราชประสงค์สองสามครั้ง ได้เห็นพระราชอัธยาศัยอันงดงามน่ารักอย่างดูดดื่ม ทำเอาข้าพเจ้าหลงไหลใฝ่ฝันแลเห็นแสงสว่างอันเจิดจ้าในภายหน้า แต่แล้วแสงสว่างนั้นก็ดับวูบลงในทันที ทำเอาข้าพเจ้าหมดทั้งสติ หมดปัญญา จนต้องไปหาสมเด็จฯ ให้ท่านช่วยเพราะจะร้องไห้เท่าไรน้ำตาก็ไม่ช่วยให้หมดโศกะปริเทวะได้เลยเรียนสารภาพกับสมเด็จ ฯ ท่านตรง ๆ ว่าปลงไม่ตก ไม่รู้จะทำอย่างไร ท่านก็ตอบว่า ไม่ใช่ความผิดของท่านหญิงเหมือนได้พบเพชรเม็ดหนึ่งวางไว้ในมือ กำลังชมเพลิดเพลิน เผอิญมีมือดำ ๆ ยื่นมาหยิบไปจากข้างหลัง, จึงต้องสูญไป, ก็ยังดีกว่าไม่ได้ชมเชยเพชรนั้นไม่ใช่หรือ? ฟังแล้วก็เข้าใจ แต่ก็ยังหายาวิเศษให้หายเศร้าโศกได้เด็ดขาดไม่ได้จนบัดนี้ นอกจากจะคิดได้แต่เพียงว่า สิ่งนั้นก็ต้องเกิดเป็นธรรมดา แล้วพยายามลืมให้หมด
ตอนสมเด็จ ฯ ท่านไม่สบาย ออกไปอยู่วัดเขา ข้าพเจ้าก็ได้ไปเยี่ยมท่านกับน้องชาย ท่านยินดีมาก ถามว่าจะเสด็จไปไหนหรือ ๆ เสด็จมาเยี่ยมอาตมาภาพเท่านั้น? เรียนท่านว่า มาเยี่ยมพระเดชพระคุณเท่านั้นแล้วจะกลับ ท่านหันไปบอกพระที่นั่งอยู่ด้วยว่า ท่านมาเยี่ยมนะ สองสามวันก็ได้ข่าวว่าท่านมรณภาพเสียแล้ว จะสรงน้ำที่วัดเทพ ฯ วันนั้น เวลานั้น ข้าพเจ้าและน้องก็พาไป นึกว่าเห็นจะกลั้นร้องไห้ไม่ได้แน่ เพราะรู้สึกว้าเหว่เหลือประมาณเมื่อไม่มีเสด็จพ่อ ก็ถือเอาท่านเป็นที่พึ่ง มีสุขทุกข์ก็ไปเทถวายให้ท่านรักษา ครั้นไปถึงประตูห้องสรงน้ำพบพระยืนส่งบัตรใจความว่า ไม่ตายวันนี้ ก็ตายวันหน้า ได้สติหยุดร้องไห้ได้ทันที และเลยยึดพระธรรมของสมเด็จ ฯ นี้ไว้เป็นเครื่อง ค้ำจุนชีวิตจนทุกวันนี้
ขอกุศลกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำ กำลังทำ และจะได้ทำต่อไปทั้งหมด จงให้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรเถร) ผุ้เป็นอาจารย์ ได้ทราบและโปรดประทานอนุโมทนาด้วยเทอญ
..................................................................................