ยกย่องในความกตัญญู
เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที และสรรเสริญบุคคลที่มีคุณธรรมข้อนี้ กุฎีที่ท่านพำนักชั้นบนเคยเป็นที่พำนักของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรมหาเถร) เมื่อสมเด็จพระอุปัชฌาย์มรณภาพ ท่านก็ไม่เคยอย่างกรายขึ้นไปละลาบละล้วง ปล่อยทุกอย่างให้คงเดิม อาศัยขึ้นไปค้นข้อมูลจากหนังสือที่เก็บไว้บนนั้นเป็นครั้งคราว ได้ยินมาว่า สมัยที่เป็นพระมหาเปรียบท่านมีความชำนิชำนาญในความรู้ภาษาบาลี แต่ความรู้เรื่องภาษาสันสกฤตยังมีน้อยเต็มที ในครั้งนั้น ท่านได้พบและได้เรียนภาษาสันสกฤตกับพระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) ปราชญ์ด้านอักษรศาสตร์ของเมืองไทยพระสารประเสริฐแนะว่าการเรียนภาษาสันสกฤตก็ใช้หลักเดียวกับภาษาบาลีเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ เรียนภาษาสันสกฤตกับพระสารประเสริฐเพียงไม่นานก็ทำให้ความรู้ภาษาสันสกฤตของท่าน เพิ่มพูนกว้างใหญ่ไพศาล ถึงกระนั้นท่านก็ยกย่องพระสารประเสริฐเป็นครูท่านบอกลูกศิษย์ใกล้ชิดว่า สวดมนต์ไหว้คุณอยู่ทุกคืน ใครเคยมีคุณกับท่าน ท่านก็มักประกาศคุณนั้น ๆ ให้ปรากฎไม่ลืมเลือนและหาทางสนองคุณสมนาคุณในโอกาส แต่ถึงอย่างนั้นท่านก็ให้ข้อคิดเกี่ยวกับความกตัญญูกตเวทีไว้น่าฟังว่า พืชถูกไฟเผาย่อมไม่งอกขึ้นในไฟ ฉันได แม้ไมตรีกรรมที่ทำไว้ในอสัตบุรุษก็สูญเปล่าไม่งอกงาม ฉันนั้น (แต่) ไมตรีกรรมที่บุคคลทำไว้ในคนกตัญญู มีศีล มีความประพฤติอย่างอารยชน ย่อมไม่เสียผล เหมือนพืชที่หว่านลงในนาดี ฉะนั้น
เป็นคนไม่กลัวคน
เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ตามปกติมีวิสัยกล้าไม่กลัวคน โดยเฉพาะเรื่องของคุณธรรมและความรู้ ไม่ว่าใครจะยิ่งใหญ่สักเพียงไหน หากท่านทราบโดยตติยัมปิแน่แก่ใจแล้วว่าไม่ดีจริง ท่านไม่ยอมลงให้และไม่คบหาสมาคม เรื่องของความรู้สึกเช่นกันได้ยินมาว่าครั้งหนึ่งท่านได้เป็นกรรมการจัดทำปทานุกรมที่วัดบวรนิเวศวิหารในที่ประชุม ประกอบด้วยคะกรรมการทั้งสงฆ์และฆราวาส ซึ่งล้วนแต่เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต บางท่านสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังของโลกในที่ประชุมนั้น ติดศัพท์คำหนึ่งซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ไม่เห็นพ้องกับกรรมการท่านหนึ่งทำให้ไม่สามารถพิมพ์หนังสือและปิดประชุมได้ ในที่สุดที่ประชุมมีมติให้กรรมการสองท่านแสดงเหตุผลและอ้างหลักฐานความรู้ที่ถูกต้องเมื่อกรรมการท่านนั้นแสดงเหตุผลจบ เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ให้พระมหาจากวัดบวรนิเวศวิหารมาช่วยในที่ประชุมไปหยิบสมุดใบลานเล่มหนึ่งที่ตำหนักจันทร์ในสมุดเล่มนั้นมีลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อครั้งทรงครองวัดบวรนิเวศวิหารเขียนศัพท์ที่ติดอยู่นั้นตรงกับความเห็นของเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ เป็นที่ทราบกันดีว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแตกฉานในภาษาบาลีอย่างหาผู้เปรียบได้ยาก เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ อ้างหลักฐานและแสดงเหตุผลที่ถูกต้องโดยถ่องแท้ ที่สุดที่ประชุมจึงต้องยอมตามความเห็นของเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ เป็นมติเอกฉันท์ ท่านเล่าให้ฟังว่าเมื่อออกจากห้องประชุม เจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร เป็นกรรมการรูปหนึ่งเดินมาหาแล้วกล่าวว่า เอาบาตรใหญ่ไปข่มเขา เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ตอบว่า จำเป็น ถ้าปล่อยไปก็ผิด
ความไม่กลัวคนและไม่ยอมลงให้นี้ ท่านว่าทำให้เกิดความขุ่นข้องแก่จิตใจของบุคคลมาไม่น้อย ต่อมาเมื่อเจริญพรรษาและวุฒิธรรมมากยิ่งขึ้น ท่านก็กลับเป็นผู้รู้จักผ่อนผัน ธรรมที่ท่านฝากไว้เป็นคติเมื่อสุดท้ายของสังขาร คือ เอาชนะคน ต้องยอมแพ้กิเลส เอาชนะกิเลส ต้องยอมแพ้คน และเอาชนะตนได้ในที่สุด
ไหว้ผู้อ่อนอาวุโสกว่า
เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ เป็นพระเถระที่มีเมตตาธรรมสูง ใครที่เคยอยู่ใกล้ชิดท่านจะรู้สึกสงบ ร่มเย็น ยุติความเร่าร้อน นั่นเป็นเหตุแห่งเตตาบารมี ที่ท่านได้บำเพ็ญและแผ่สู่บุคคลรอบข้างให้สัมผัสได้ เมื่อท่านมรณภาพได้พบบันทึกฉบับหนึ่งซึ่งท่านได้เขียนถึงเรื่องเมตตาไว้ว่า ทำเมตตาในใจให้เหมือนอย่างแม่ที่มีต่อลูก ความเมตตาของท่านจึงแผ่ไปอย่างไม่เลือกหน้า
นอกจากนั้นท่านยังเป็นผู้งดงามด้วยมัททวะ คือความอ่อนโยนนุ่มนวลละมุนละไม ไม่ถือตัวแต่ไหนแต่ไรมา โอภาปราศรัยจับใจผู้ฟัง ถึงแม้ท่านจะยิ่งใหญ่ด้วยฐานานุรูปแต่ก็มีคติประจำใจข้อหนึ่งคือ ยิ่งโตก็ยิ่งเล็ก เป็นเด็กมีคนอุ้ม ท่านจึงไม่เคยยกตนข่มผู้อื่น มีแต่แสดงความอ่อนน้อมต่อผู้ที่ท่านได้พบปะสนทนา ใครใกล้เข้ามาท่านไหว้ก่อน พระเถระที่มารดน้ำศพท่านองค์หนึ่งกล่าวว่า ไม่เคยไหว้ท่านทัน ท่านไหว้เราก่อนทุกที เป็นที่เลื่องลือว่าเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ องค์นี้ไหว้ผู้อ่อนอาวุโสกว่า ท่านอธิบายเรื่องนี้ว่า การไหว้มี ๒ อย่าง ไหว้ทางธรรม กับไหว้ทางวินัย ทางวินัยผู้น้อยไหว้ผู้ใหญ่ แต่ไหว้ทางประพฤติอัปจายนธรรม คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ท่านจึงเป็นที่เคารพนับถืออย่างมากของพระสงฆ์ทั้งธรรมยุตและมหานิกาย
.................................................................................................