ได้เป็นสมเด็จ ๒ ตำแหน่ง
วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพโมลี ในศกนี้ พระเถระวัดเทพศิรินทราวาสได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ ๓ รูปด้วยกัน ทางวัดได้จัดให้มีการแสดงมุทิตาจิตแด่พระเถระในพระอุโบสถ เมื่อพระเถระทั้ง ๓ รูปกำลังเดินเข้าพระอุโบสถ มีซินแสจีนคนหนึ่งเป็นหมอดูได้พูดขึ้นว่า องค์ที่ได้ขึ้นเป็นเทพโมลี ต่อไปจะได้เป็นสมเด็จ ฯ คนที่ยืนอยู่ด้วยกันในบริเวณนั้นถามว่าจะเป็นสมเด็จอะไร ซินแสจีนคนนั้นบอกว่า จะเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เรื่องที่จะได้เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์นิกจากซินแสจีนผู้นี้ยังมีโหราจารย์และผู้รู้เคยพยากรณ์ไว้อีกหลายปาก เหมือนท่านเหล่านั้นจะมีตาทิพย์เห็นเหตุการณ์ข้างหน้าดังจะพรรณนาต่อไป
ในศกนี้ ตำแหน่งพระราชาคณะชั้นธรรมที่จะได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ มี ๒ ตำแหน่ง คือ คณะธรรมยุค ได้แก่ พระธรรมปิฎก คณะมหานิกาย ได้แก่ พระธรรมไตรโลกาจารย์ กรรมการคณะธรรมยุค มีมติเห็นพ้องกันให้พระเทพโมลีวัดเทพศิรินทราวาส เลื่อนเป็นพระธรรมปิฎก เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ทราบเช่นนั้นจึงเดินทางไปบอกโยมผู้ชายที่เมืองชลบุรีว่า ปีนี้จะได้เลื่อนชั้นธรรมจะได้เป็นพระธรรมปิฎก โยมผู้ชายบอกแก่เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ว่า เจ้าคุณไม่ได้เป็นพระธรรมปิฎก เจ้าคุณต้องเป็นพระธรรมไตรโลกาจารย์ พระเจ้าคุณเคยไปบอกพระยาสัจจาภิรมย์ไว้แล้ว
เป็นที่ทราบกันว่า ตำแหน่งสมณศักดิ์นั้นเมื่ออยู่คณะใด ก็เป็นของคณะนั้นและเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อ่อนไหวต่อการกระทบกระทั่ง จึงเป็นเรื่องยากที่จะมีการเปลี่ยนแปลง เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ จึงไม่เห็นทีท่าว่าจะได้เป็นพระธรรมไตรโลกาจารย์ได้อย่างไร จนกระทั่งเรื่องนี้ขึ้นไปถึงขั้นตอนสุดท้าย คือให้เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชลงพระนาม เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตติโสภณมหาเถร วัดเบญจมบพิตร) ทอดพระเนตรเห็นบัญชีรายนามพระเถระที่จะได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ ทรงมีพระบัญชาให้สลับตำแหน่งพระธรรมไตรโลกาจารย์ มาให้พระเทพโมลี วัดเทพศิรินทราวาส ทรงให้เหตุผลว่าตำแหน่งนี้พระอุปัชฌาย์ของพระเทพโมลี คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เคยเป็นมาก่อนเจ้าประคุณสมเด็จึงได้เป็นพระธรรมไตรโลกาจารย์ดังที่ได้ประกาศไว้กับพระยาสัจจาภิรมย์เมื่ออายุยังไม่ถึงห้าขวบปีด้วยเหตุมหัศจรรย์ดังนี้
ณ วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๓๙ ได้รับพระราชทานสถาปนาเลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระวันรัต มีราชทินนามตามจารึกในสุพรรณบัฎว่า
สมเด็จพระวันรัต ปริยัติปฏิบัติคุณดิเรก อเนกคัมภีรธรรมัตถโกศล สุวิมลวินยสุนทร
ณาณวรวรางกูร วิบูลธรรมโสภิต ตรีปิฎกบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังคาราม คามวาสี
อรัญวาสี สถิต ณ วัดเทพศิรินทราวาส พระอารามหลวง จงเจริญทีฆายุ จิรัฎธิติกาล
ในพระพุทธศาสนา เทอญ ฯ
ในศกนี้ ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะว่างลง ๒ ตำแหน่ง คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ๑ สมเด็จพระวันรัต ๑ เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ได้รับเมตตาธรรมจากพระมหาเถระเสนอให้เป็นสมเด็จพระวันรัต แทนที่จะเสนอให้เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จ ฯบอกว่า เป็นเพราะโยมผู้ชายได้อธิษฐานขอไว้ อีกเหตุผลหนึ่งท่านไม่เลือกเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านกล่าวว่า ถ้าเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เวลาเซ็นชื่อ ก็ต้องเซ็นชื่อเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เหมือนสมเด็จพระอุปัชฌาย์ เพียงคิดก็ไม่กล้าแล้ว
วันที่ ๒๑ พฤศจิการยน ๒๕๓๙ คณะสงฆ์วัดเทพศิรินทราวาสพร้อมด้วยคณะศิษยานุศิษย์ ได้จัดพิธีสมโภชสุพรรณบัฎที่ได้รับพระราชทานสถาปนา ในการนี้เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง เจ้าหน้าที่สำนักอาลักษณ์และเครื่องราชอิศริยาภรณ์และเจ้าหน้าที่กรมการศาสนา เชิญสุพรรณบัฎและเครื่องยศสมณศักดิ์ขึ้นตั้งไว้ ณ โต๊ะหมู่ที่เตรียมพร้อมไว้ในพระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส พิธิสมโภชสุพรรณบัฎดำเนินไปจนเสร็จพิธี มีสามเณรรูปหนึ่งต้องการจะชมสุพรรณบัฎนั้นเป็นเช่นไรเพราะไม่เคยเห็นจึงได้กราบเรียนขออนุญาตขอชม เมื่อได้รับอนุญาตจึงไปหยิบมาดู ปรากฎว่าสุพรรณบัฎนั้น เป็นสุพรรณบัฎที่จารึกนามของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ท่านจึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่ให้ได้ทราบ เมื่อเจ้าหน้าที่ทราบเรื่องต่างตกใจเป็นอย่างมากเพราะไม่เคยมีการผิดพลาดเจ้าหน้าที่ทั้งหลายรีบไปเชิญสุพรรณบัฎของสมเด็จพระวันรัตมาถวายเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ พร้อมกับกราบขออภัยให้งดโทษ เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ มิได้ว่ากระไร นอกจากมอบรางวัลเพิ่มเป็นกำลังใจที่ต้องเหนื่อยถึงสองครั้งในการไปเชิญสุพรรณบัฎมาถวาย เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่มหัศจรรย์ จึงกล่าวได้ว่าเจ้าประคุณสมเด็จ ได้สถาปนาเป็นสมเด็จพระวันรัต ตามที่โยมผู้ชายได้อธิษฐานขอไว้กับหลวงพ่อเฉย และได้รับพระราชทานสุพรรณบัฎของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ตามคำทำนายของโหรทั้งหลาย ด้วยการสมโภชสุพรรณบัฎ อันตำแหน่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์และสมเด็จพระวันรัตนี้ เป็นตำแหน่งที่สมเด็จพระราชาคณะที่มีมาเดิมตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าเป็นราชทินนามที่ได้มาจากลังกา เป็นตำแหน่งคู่กันของสังฆนายก ฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสี ตำแหน่ง ๒ ตำแหน่งนี้จึงเป็นตำแหน่งที่สูงส่ง ศักดิ์สิทธิ์ พระมหาเถระผู้จะได้รับพระราชทานนามนี้ จะต้องมีความสำคัญมากทั้งในด้านภูมิรู้และภูมิธรรม กล่าวกันว่าหากบุญบารมีไม่เพียงพอก็เป็นไม่ได้ การที่เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ได้เป็นสมเด็จถึง ๒ ตำแหน่งจึงเป็นเครื่องยืนยันสิ่งที่พรรณนามาแต่ตอนต้นว่า ท่านเป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ต้องตามโบราณวินิจฉัยทุกประการ
ชำระพระคำภีร์
ผลงานด้านตำรา นอกจากได้ช่วยชำระตำราเรียนจำนวนมากมายในการดำรงมหามกุฎราชวิทยาลัยแล้ว เจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังได้รับมอบหมายหน้าที่จากเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (ครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสน-โสภณ ผู้อำนวยการมหามกุฎราชวิทยาลัย) ให้ตรวจชำระพระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา และพระคัมภีร์ธาตุปปทีปิกา อันพระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาและคัมภีร์ธาตุปปทีปิกา เป็นพระคัมภีร์ที่จัดเป็นตำราพจนานุกรมที่มีคุณค่าสารประโยชน์ ประดุจเป็นประทีปศัพท์ช่วยส่องสว่างพระคัมภีร์บาลีทั้งหลายมีผู้กล่าวไว้ว่าพระคัมภีร์นี้เหมาะแก่นักเรียนที่มีภูมิรู้สูงมิพักต้องพูดถึงผู้รับหน้าที่ชำระสอบทานแก้ไข หากภูมิรู้ไม่มั่นคงจะทานภาระหนักนี้ไม่ได้ ฉะนั้น การที่เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ รับภาระชำระพระคัมภีร์นี้จึงเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ศึกษาภาษาบาลีในประเทศไทยสืบไปตลอดกาลนาน
ทำนุบำรุงวัด
วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๑ ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชันหิรัณยบัฎ ที่ พระสาสนโสภณ ในสมัยนี้เป็นยุคที่เจ้าประคุณสมเด็จ ฯเริ่มครองวัด (๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๑) ท่านเป็นเจ้าอาวาสที่อุดมด้วยพรหมวิหารธรรม เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาไป ทำให้ผู้อยู่ใต้ปกครองได้รับความร่มเย็นเป็นสุข ในการปกครองจึงเอาใจใส่สอดส่องดูแลพระสงฆ์สามเณรอย่างเท่าเทียมกัน มิได้เลือกที่รักมักที่ชัก เมื่อพระเถระองค์ใด ถึงพร้อมด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิ ท่านก็สนับสนุนให้เจริญด้วยสมณศักดิ์ พระเถรานุเถระที่เติบใหญ่เป็นหลักเป็นฐานแก่ วัดเทพศิรินทราวาสก็ด้วยอำนาจเมตตาธรรมของเจ้าประคุณสมเด็จฯ โดยแท้
ท่านเป็นเจ้าวัดที่ถือความเจริญรุ่งเรืองของวัดเป็นใหญ่ ถือความมั่นคงสถาพรของวัดเป็นธงชัย สิ่งใดที่เป็นประโยชน์แก่วัดท่าน ไม่รีรอ ที่จะกระทำแต่สิ่งใดนำมาซึ่งคำตำหนิติเตียนเสียหายแม้เพียงชื่อเสียงของวัด ท่านห้ามปรามและป้องกันท่านได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุสิ่งก่อสร้างในวัดที่ชำรุดทรุดโทรม ให้กลับมีสภาพดีมั่นคงถาวรมาโดยลำดับกล่าวเพียงสังเขป คือ ซุ้มประตูหน้าวัด ซุ้มระฆังหน้าวัด ศาลาบริเวณพระอุโบสถ คณะเหนือ คณะกลาง คณะใต้ ฯลฯ
ในการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถครั้งใหญ่ ท่านได้แสดงให้เห็นความสามารถในด้านการก่อสร้างอย่างเด่นชัด ท่านให้ช่างขุดเจาะที่บานพระอุโบสถพบว่าฐานเดิมทำไว้ไม่มั่นคง นานไปจะรองรับน้ำหนักพระอุโบสถไว้ไม่ไหว ท่านสั่งให้เพิ่มเติมรากฐานด้วยเสาขนาดมหึมาอีกหลายต้น สิ่งใดที่อยู่บนหลังคาอุโบสถที่มีน้ำหนักเกินความจำเป็นต่อไปจะทำอันตรายต่อตัวพระอุโบสถได้ เช่น ช่อฟ้าใบระกา ท่านให้รื้อออก และทำเลียนแบบด้วยวัสดุที่มีน้ำหนักเบา แต่ยังคงความสง่างามแก่องค์พรอุโบสถเหมือของเดิมไม่ผิดเพี้ยน วันหนึ่งขณะทำการปฏิสังขรณ์ มีพระเถระผู้ใหญ่ต่างวัดเดินทางมาพบเข้าถึงอุทานว่า ซ่อมอย่างนี้อีกร้อยปีโบสถ์วัดเทพฯ ก็ไม่เป็นไร วัดเทพฯ มีสมภารที่พึงวัดได้เช่นนี้จึงพยุงวัดให้มั่นคงมาได้จนถึงทุกวันนี้
มีเรื่องเล่าว่า เมื่อเริ่มครองวัดท่านทำการก่อสร้างซ่อมแซมกำแพงรอบวัดเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ทางราชการได้มาก่อสร้างบาทวิถีริมรั้ววัดด้านพลับพลาอิศริยาภรณ์ สูงประมาณครึ่งศอก ดังนั้นเมื่อมองจากพื้นดินทำให้รั้ววัดด้านสระน้ำกับด้านพลับพลา ฯ ไม่เท่ากัน ต่อมาอีก ๒๐ ปีให้หลัง ทางราชการได้มาต่อเติมถนนริมรั้วด้านสระน้ำทำให้พื้นถนนสูงขึ้นกว่าเดิม วันหนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ นั่งอยู่ที่กุฎิก็รำพึงออกมาว่า ค่อยโล่งใจรั้ววัดเท่ากันแล้ว ทำให้เห็นว่าตลอดเวลา ๒๐ กว่าปี ท่านไม่เคยวางใจในเรื่องแม้เพียงเท่านี้ เจ้าอาวาสที่อุทิศตนเพื่อวัดแทบทุกลมหายใจเข้าออกเช่นนี้ย่อมเป็นผู้หาได้ไม่ง่ายนัก
................................................................................................................