(ท่านเจ้าคุณนรฯ อยู่ลำดับที่ 6)
ประวัติสมัยรับราชการ
เมื่อท่านธมฺมวิตกฺโก หรือนายตรึก จินตยานนท์ จบการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนได้รับประกาศนียบัตรในวิชารัฐประศาสนศาสตร์ในสมัยนั้นแล้ว ได้มีการซ้อมรบเสือป่าที่ค่ายหลวง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี (ท่านบอกว่าเมื่อสมัยนั้นเป็นเขตจังหวัดกาญจนบุรี) ท่านในฐานะเสือป่าได้เข้าร่วมซ้อมรบครั้งนี้ด้วย ท่านได้รับหน้าที่ให้เป็นคนส่งข่าว โดยมีรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ และการซ้อมรบครั้งนี้เองได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของท่านอย่างมากมาย จากความตั้งใจที่จะเป็นข้าราชการฝ่ายปกครองมาเป็นข้าราชการสำนัก โดยที่ท่านไม่เคยนึกฝันมาก่อน เนื่องจากขณะนั้นท่านมีรูปร่างแบบบาง ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 จึงได้รับสั่งถามว่า ตัวเล็ก ๆ อย่างนี้ถ้านำข่าวไปแล้วถูกข้าศึกดักทำร้ายจะสู้ไหวหรือ ซึ่งท่านก็กราบบังคมทูลว่า ต้องลองสู้กันดูก่อน ส่วนจะสู้ไหวหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จากคำกราบบังคมทูลนี้ ปรากฏว่าล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ทรงพอพระราชหฤทัยมาก เมื่อซ้อมรบเสร็จได้มีการเลี้ยงเนื่องในการซ้อมรบครั้งนี้ และล้นเกล้าฯ ก็ได้โปรดให้รับใช้ใกล้ชิด และได้รับสั่งชวนให้ไปรับราชการในวังก่อน เมื่ออายุมากกว่านี้ จะออกมารับราชการฝ่ายปกครองก็จะโปรดให้เป็นเทศาฯ เสียทีเดียว เมื่อท่านเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้โอกาสเช่นนี้แล้ว จึงกราบบังคมทูลว่า แล้วแต่จะทรงโปรด ฉะนั้นเมื่อเสร็จการซ้อมรบท่านก็ตามเสด็จเข้าไปอยู่ในวังเลย
ท่านเล่าว่าชีวิตของท่านระยะแรกที่เข้าไปอยู่ในวังนั้น ท่านถูกตั้งข้อรังเกียจจากชาววังสมัยนั้น ใคร ๆ ก็ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเด็กเลี้ยงควาย ถึงกับให้มารับใช้อย่างใกล้ชิด เป็นเหตุให้ถูกกลั่นแกล้งต่าง ๆ นานา เช่น เมื่อเข้าเวรก็มีคนเอาน้ำมาราดที่นอนของท่าน เมื่อกลับมาท่านก็นอนไม่ได้เพราะที่นอนชุ่มน้ำไปหมด ท่านก็อดทนไม่ปริปากบ่นหรือบอกกับใครถึงการที่ถูกกลั่นแกล้งนี้ แต่การ กลั่นแกล้งเช่นนี้ก็ไม่หยุด ท่านจึงหาวิธีแก้ไขโดยไม่นอนบนที่นอน รื้อที่นอนทิ้งแล้วนอนบนเหล็กแทน ที่ว่านอนบนเหล็กนี้เพราะเตียงที่ใช้นอนทำด้วยเหล็กและที่พื้นเตียงก็เป็นเหล็กเส้นพาดไปมา ส่วนหมอนก็ไม่ใช้ เมื่อท่านทำเช่นนี้ก็ไม่มีใครมาแกล้งได้ ท่านบอกว่าท่านรู้ว่าใครมาแกล้ง แต่ท่านก็ไม่ว่ากระไร แม้เมื่อท่านขึ้นมาเป็นเจ้ากรมห้องพระบรรทม กลุ่มที่แกล้งท่านกลับมาอยู่ใต้บังคับบัญชา ท่านก็ไม่เคยคิดจะแก้แค้นแต่อย่างใด ท่านให้อภัยทุกคน การให้อภัยนี้ทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นการทำทานอย่างสูงสุด
เมื่อท่านธมฺมวิตกฺโก ได้เข้ารับราชการแล้วท่านก็ขวนขวายหาวิชาความรู้เพิ่มเติม เพื่อจะได้รับราชการสนองคุณได้อย่างไม่มีข้อบกพร่อง ท่านได้จ้างครูสอนภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส จนสามารถใช้ภาษาทั้งสองได้ดี ท่านได้เรียนวิชามวยไทย ฟันดาบ และยูโด โดยท่านจ้างครูที่ชำนาญวิชานี้มาสอนแต่ละวิชาเลยทีเดียว และท่านได้ศึกษาวิชาต่อสู้นี้จนคล่องคล่องในกระบวนการต่อสู้ต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา นอกจากนี้ท่านยังสนใจวิชาโหราศาสตร์ โดยเฉพาะการดูลายมือ การดูลักษณะ ซึ่งปรากฏว่าท่านสามารถทายลายมือได้แม่นยำมาก ท่านเล่าว่าท่านเคยทายลายมือคุณหญิงคนหนึ่งในวังจนเป็นที่เลื่องลือว่า ถ้าใครไม่อยากให้ความลับแตกก็อย่าให้เจ้าคุณนรรัตนฯ จับมือ ด้วยความสนใจในวิชานี้ท่านเคยขอเจ้าคุณพัศดีฯ เข้าไปดูลายมือนักโทษที่จะถูกประหารชีวิต เพื่อเป็นการศึกษาและยืนยันความมีอยู่จริงของวิชานี้ เรื่องเกี่ยวกับการดูลายมือนี้ยังเกี่ยวข้องกับชีวิตท่านอีก ซึ่งข้าพเจ้าจะเขียนต่อไปภายหลัง ยังมีอีกวิชาหนึ่งที่ท่านสนใจเป็นพิเศษเช่นกันคือ วิชาโยคศาสตร์ และด้วยวิชานี้สามารถเปลี่ยนแปลงร่างกายท่านจากแบบบางมาเป็นล่ำสันแข็งแรง เนื่องจากท่านสนใจวิชาแพทย์มาแต่เด็ก เมื่อมารับราชการท่านก็มิได้ละทิ้งความสนใจนี้ ท่านเล่าว่าท่านได้ขอท่านเจ้าคุณแพทย์พงศาฯ ผ่าศพดูด้วยตนเองเพื่อการศึกษา จนกระทั่งเจ้าคุณแพทย์พงศาฯ มอบกุญแจห้องเก็บศพให้ จากการผ่าศพนี้ทำให้ท่านมีความรู้ทางกายวิภาคอย่างแตกฉาน และด้วยความรู้นี้ ท่านสามารถบรรเทาอาการทุกขเวทนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ ท่านได้เล่าให้ฟังว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประชวรและได้รับการผ่าตัดพระอันตะ (ลำไส้) และหลังจากการผ่าตัดนั้นแล้ว เมื่อเสร็จจากการเสวยพระกระยาหารเกือบทุกครั้งจะปรากฏว่า พระกระยาหารที่เสวยนั้นจะไปติดพระอันตะตรงที่ผ่าตัดนั้น ทำให้ประชวรทรมานมาก ท่านต้องช่วยด้วยการเอามือนวดไปตามพระอันตะ และค่อย ๆ ดันให้พระกระยาหารที่ติดอยู่ตรงช่วงนั้นเลื่อนเลยไปก็จะหายประชวร ซึ่งไม่มีใครทำถวายได้เลยนอกจากท่านเพียงคนเดียว ท่านผู้อ่านอาจจะฉงนว่าทำไมท่านจึงสามารถเรียนรู้อะไรได้รวดเร็วและแตกฉาน สำหรับข้าพเจ้าไม่มีความสงสัยเลย เพราะท่านธมฺมวิตกฺโกเป็นผู้ที่สนใจอะไรแล้วจะศึกษาอย่างจริงจังไม่ย่อท้อ ด้วยความตั้งใจเป็นหนึ่งอย่างเด็ดเดี่ยวนี้ ทำให้ท่านศึกษาได้มากมาย นอกจากที่กล่าวนี้แล้ว เมื่อท่านเข้าทำงานนั้นเป็นงานที่จะต้องผลัดกันอยู่เวร เมื่อออกจากเวรก็กลับบ้านได้ เมื่อถึงเวลาจึงจะกลับมาเข้าเวรต่อไปอีก แต่ด้วยความกตัญญูและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น แม้จะออกจากเวรแล้วท่านก็ไม่กลับบ้าน ท่านจะอยู่รับใช้อย่างใกล้ชิดทุกวัน นาน ๆ ครั้งจึงจะกลับบ้าน และก็กลับมาอยู่บ้านไม่นาน อย่างมากมาเช้าเย็นก็จะกลับเข้าไปในวัง ด้วยความเอาใจใส่ต่อราชการอย่างยิ่งนี้ ทำให้ท่านรับราชการด้วยความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งได้เป็นพระยาพานทองเมื่ออายุ 25 ปีเท่านั้น มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยานรรัตนราชมานิต เมื่อปี พ.ศ. 2465
ท่านธมฺมวิตกฺโก มีปกตินิสัยชอบความสงบ ท่านชอบคนตาย ท่านบอกว่าคนตายให้แต่ความดีงาม ทำใจให้สงบ เพราะเมื่อเห็นแล้วก็เป็นเครื่องเตือนสติว่า ตัวเราก็ต้องตายเช่นนั้นไม่ช้าก็เร็ว นอกจากนี้คนตายยังให้ความรู้เป็นอาจารย์ทางแพทย์ได้อีกด้วย ไม่เหมือนคนเป็น ซึ่งอาจมีคุณและโทษ ถ้าพบคนเลวก็มีแต่โทษ มีแต่ความลำบากใจไม่รู้จักหยุด ฉะนั้นด้วยนิสัยนี้ ถ้าตามเสด็จไปบางปะอินครั้งใดท่านจะต้องไปนั่งในป่าช้าเสมอ เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ต้องการตัวท่านจะรับสั่งให้คนไปตามที่ป่าช้า ท่านไม่นิยมความสนุกสนาน แต่กระนั้นท่านก็บอกว่าท่านสามารถเล่นโขนและละครได้ ท่านเคยแสดงเป็นทั้งตัวพระและตัวนางหน้าพระที่นั่ง และแสดงได้ดีจนได้รับการยกย่องในสมัยนั้น ท่านบอกว่าล้นเกล้าฯ ของท่านไม่ชอบแสดงเป็นตัวพระหรือนาง หากแต่ชอบแสดงในบทของเสนาหรือบทของคนรับใช้มากกว่า และเคยรับสั่งกับท่านว่า "ข้าเล่นเป็นนายจนเบื่ออยู่ทุกวันแล้ว" เขียนมาถึงตอนนี้มีท่านผู้อ่านคนใดอยากทราบบ้างหรือไม่ว่าเมื่อสมัยเป็นฆราวาส ท่านธมฺมวิตกฺโกมีพระเครื่องรางประจำตัวหรือไม่ และถ้ามีท่านมีพระอะไร เรื่องนี้ผมเคยเรียนถาม ท่านบอกว่ามีอยู่หนึ่งองค์เป็นพระสมเด็จวัดสามปลื้มของสมเด็จเจ้ามา ท่านมีติดตัวเสมอโดยใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อ แต่เป็นที่น่าเสียดายเมื่อคราวตามเสด็จบางปะอิน ตอนขากลับท่านได้ลืมไว้ที่ห้องพักและหายไป หลังจากนั้นแล้วก็ไม่เคยมีพระเครื่องรางอย่างไรติดตัวอีกเลย ท่านเล่าว่าแต่ก่อนนี้ไม่ค่อยมีใครเลี่ยมพระ ส่วนมากใช้ลวดหรือด้ายถักแล้วใช้เข็มกลัดติดกระเป๋า ท่านก็ทำเช่นนั้น จึงได้ลืมเมื่อเอาออกจากกระเป๋าเสื้อและตามเสด็จกลับโดยกระทันหัน
ท่านธมฺมวิตกฺโก ได้เข้ารับราชการเริ่มแรกในกรมมหาดเล็ก แผนกตั้งเครื่องยศมหาดเล็กวิเศษ เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2457 และในเวลาเพียง 9 ปี ท่านก็ได้เป็นเจ้ากรมห้องพระบรรทม มีบรรดาศักดิ์เป็น พระยานรรัตนราชมานิต เมื่อ 30 ธันวาคม 2465 และได้เป็นองคมนตรีของรัชกาลที่ 6 เมื่อ 1 มกราคม 2467 จะเห็นได้ว่าท่านรับราชการก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ท่านกล่าวเสมอว่าท่านมีกัลยาณมิตรคือผู้ช่วยเหลือทำให้ชีวิตท่านก้าวหน้าได้ถึงเพียงนี้ และกัลยาณมิตรของท่านมีทั้งทางโลกและทางธรรม เมื่ออยู่ทางโลกท่านมีล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เป็นกัลยาณมิตร เมื่อท่านอยู่ในทางธรรม ท่านก็มีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดเทพศิรินทราวาส เป็นกัลยาณมิตร ท่านมีความกตัญญูต่อรัชกาลที่ 6 และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์อย่างมากมาย สมดังพุทธภาษิตที่ว่า "นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตัญฺญู กตเวทิตา" ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี ในเรื่องความกตัญญูนี้เป็นชีวิตของท่านทีเดียว ถ้าใครทำอะไรให้ท่าน ท่านจะไม่ลืมบุญคุณอันนั้นและพยายามทำทุกวิถีทางที่จะสนองคุณ มีอุบาสิกาคนหนึ่งถวายอังสะสำหรับฤดูหนาวให้ท่าน ซึ่งท่านก็ได้ใช้มาจนมรณภาพไม่เคยเปลี่ยน แม้ใครจะเอาอังสะสำหรับฤดูหนาวที่ดีกว่าใหม่กว่ามาถวายท่านก็ไม่ยอมรับ โดยบอกว่าท่านมีแล้ว และแนะนำให้เอาไปถวายพระองค์อื่นต่อไป และสำหรับอุบาสิกาผู้นี้ถ้ามีกิจมาขอความช่วยเหลือ เช่นตั้งชื่อลูกบ้างหรืออย่างอื่นก็ตามท่านจะรีบทำให้ทันที ข้าพเจ้าไม่รู้จักอุบาสิกาผู้นี้ แต่เคยเห็นหน้าเมื่อมาหาท่านธมฺมวิตกฺโกคราวหนึ่ง และทราบพฤติการณ์จากท่านธมฺมวิตกฺโกเล่าให้ฟัง ทำให้ผมซาบซึ้งในความกตัญญูของท่านที่มีต่อทุกคนที่มีคุณต่อท่าน ท่านธมฺมวิตกฺโกเคยอธิบายข้อธรรมให้ฟังว่าธรรมทุกข้อล้วนแต่มีจุดมุ่งไปสู่พระนิพพานทั้งสิ้น แม้ความกตัญญูนี้ก็เช่นกัน ท่านเองท่านก็ยึดมั่นแน่วแน่ในเรื่องกตัญญูมาโดยตลอด เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรและเสด็จสวรรคต ท่านเศร้าโศกเสียใจมาก และใครต่อใครที่อยู่ในวังสมัยนั้นกล่าวหาว่า ท่านสติเฟื่องเพราะว่าท่านกินหญ้าแทนข้าวปลาอาหารทั้งหลาย ผมได้เคยนำเรื่องนี้มาเรียนถามท่านว่าเป็นความจริงหรือไม่ที่เขาว่าท่านสติเฟื่องและกินหญ้าแทนอาหาร ท่านได้บอกว่าเป็นความจริง และได้เล่าว่าขณะนั้นเป็นระยะเวลาทำบัญชีพระราชทรัพย์ส่งล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ตามหน้าที่เจ้ากรมห้องพระบรรทมของท่าน ในระยะเวลานี้มีคนพูดให้เข้าหูท่านอยู่เสมอว่า ต่อไปนี้ท่านต้องอดตายเพราะไม่มีล้นเกล้าฯ คอยชุบเลี้ยงอีกต่อไปแล้ว ด้วยคำพูดนี้ ท่านจึงให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปเกี่ยวหญ้ามาให้ท่านและท่านก็กินหญ้าแทนอาหารอยู่หลายวัน เพื่อจะพิสูจน์ว่าคนอย่างท่านไม่มีวันอดตายเพราะท่านกินหญ้าได้ และเมืองไทยก็มีหญ้ามาก ผลจากการพิสูจน์นี้ทำให้ผู้ที่ไม่เข้าใจเห็นกันไปว่าท่านสติเฟื่อง แต่ความจริงแล้วท่านทำลงไปอย่างคนมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน แต่ทำไปเพื่อทดลองดูว่าจะทำได้หรือไม่เป็นการลบคำกล่าวหาอันนั้น คนเรามีวิธีต่อสู้กับการนินทาว่าร้ายหลายวิธีและต่างคนก็ต่างวิธี บางคนหากมีใครมากล่าววาจาดูถูก อาจจะใช้กำลังทำร้ายตอบหรือใช้วาจาร้ายตอบ แต่ท่านธมฺมวิตกฺโกท่านมีวิธีของท่านเองที่ไม่เหมือนใคร เมื่อมีใครมากล่าวหาว่าจะต้องอดตาย ท่านก็ไม่โต้ตอบแต่กลับมาพิจารณาตนเองว่าจะเป็นไปได้อย่างที่เขาว่าหรือไม่ เมืองไทยอุดมสมบูรณ์ วัว ควาย ยังไม่อดตายเพราะกินหญ้าได้ หากท่านกินหญ้าได้ก็จะไม่มีวันอดตาย ท่านจึงทดลองดูว่าท่านทำได้
เรื่องที่มีคนพูดกันว่า ท่านต้องอดตายนั้นก็มีสาเหตุที่จะพูดเช่นนั้นได้ เพราะท่านธมฺมวิตกฺโกเมื่อครั้งที่รับราชการนั้น ท่านไม่เคยขอพระราชทานสิ่งใดเลย ท่านมีแต่จะตั้งหน้ารับราชการด้วยความกตัญญูเพียงอย่างเดียว เงินเดือนพระราชทานสำหรับท่านก็เพียงพอที่จะใช้ และเหลือไปทำบุญทำทานได้มาก เพราะท่านไม่มีนิสัยฟุ่มเฟือย ท่านประหยัดเสมอ จะทิ้งของสิ่งใดก็ต่อเมื่อเห็นว่าหมดประโยชน์ที่จะใช้ทางหนึ่งทางใดได้แล้ว ท่านเดินไปทำงาน แม้เมื่อเป็นพระยาพานทอง จนมีคนพูดว่าเสียเกียรติพระยาหมด เพราะพระยาสมัยนั้นมีรถยนต์นั่งกันแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระทัยเมตตา ข้าราชบริพารคนใดจะกราบทูลขอพระราชทานสิ่งใดก็ได้ ไม่ว่าจะบ้านหรือที่ดิน และแต่ละคนก็ล้วนแต่ขอพระราชทานไว้ทั้งนั้น แต่สำหรับพระยานรรัตนราชมานิตผู้ใกล้ชิดเป็นเจ้ากรมห้องพระบรรทมไม่เคยขอพระราชทานสิ่งใดเลย จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินที่ราชเทวีให้ ซึ่งกว่าท่านจะรับได้ก็แสนนาน เมื่อรับแล้วท่านก็ปล่อยทิ้งไว้ไม่สนใจใยดี ภายหลังทรงมีพระกระแสรับสั่งจะปลูกบ้านให้ท่านก็ปฏิเสธไม่ยอมรับ คราวนี้ถึงกับปฏิเสธอย่างแข็งขันทีเดียว จนล้นเกล้าฯ ทรงยอมตามใจท่านธมฺมวิตกฺโก สำหรับเรื่องรถยนต์ เมื่อมีคนพูดกันหนาหูท่านก็ซื้อมาคันหนึ่งจะเป็นยี่ห้อใดผมจำไม่ได้เสียแล้ว แต่ท่านบอกว่าแพงมากสมัยนั้น และรถยนต์คันนี้ เมื่อท่านมาบวชที่วัดเทพศิรินทราวาส ท่านก็ได้ถวายสมเด็จอุปัชฌาย์เอาไว้ใช้ และต่อมาสมเด็จก็อุทิศให้แก่โรงพยาบาลกลางเอาไว้ใช้ในราชการ เพราะเหตุที่ท่านธมฺมวิตกฺโกไม่เป็นผู้แสวงหาทรัพย์นี้เองจึงมีผู้กล่าวว่าท่านจะอดตาย
นอกจากเรื่องทรัพย์สมบัติดังกล่าวแล้ว แม้ในเรื่องยศฐาบรรดาศักดิ์ก็เช่นกัน ท่านไม่ปรารถนามากไปกว่าจะได้ทำงานถวายล้นเกล้าฯ เมื่อจะได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยานรรัตนราชมานิตท่านก็ปฏิเสธไม่ยอมรับ โดยอ้างว่าจะเกินหน้ากว่าพ่อมากไป ที่จริงแล้วท่านไม่ปรารถนาจะทำตัวเด่น ท่านปรารถนาจะทำดีเท่านั้น ท่านเคยสอนเสมอว่าการทำตัวเด่นเป็นสิ่งไม่ดี จะเป็นที่อิจฉาและจะเป็นภัยได้ จริงอยู่การที่มีคนอิจฉาแสดงว่าเรามีความดีความสามารถอยู่ในตัว ไม่เช่นนั้นจะไม่มีคนอิจฉา แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องระวังมาก ท่านจึงไม่ปรารถนาจะเด่นเลย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเห็นท่านคัดค้านเช่นนั้น จึงโปรดให้โยมพ่อท่านได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระนรราชภักดี แล้วจึงโปรดให้ท่านเป็นพระยานรรัตนราชมานิต เมื่อท่านได้เป็นพระยาแล้วการณ์ก็เป็นไปดังที่ท่านคาดหมายไว้ว่าจะต้องถูกนินทา โดยกล่าวว่ายังไม่ควรจะโปรดฯ เพราะหนุ่มไปในทำนองนี้ หากท่านได้ยินเข้าท่านก็จะเข้าไปหา แล้วจะบอกว่าผมเองก็ยังไม่อยากเป็น แต่จะทำอย่างไรได้ในเมื่อพระเจ้าอยู่หัวให้เป็น ขอโทษด้วยเถิด ทำให้เรื่องนี้เงียบกันไปได้ ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าท่านมีวิธีแก้การดูถูกนินทาว่าร้ายได้ด้วยความสงบเสมอและไม่เหมือนใคร ไม่ว่าจะเรื่องอดตาย หรือเรื่องได้รับบรรดาศักดิ์เร็วเกินไปก็ตาม
......................................................