ความสัมพันธ์กับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
เหตุที่ท่านธมฺมวิตกฺโกเลือกเอาวัดเทพศิรินทราวาสเป็นสำนักเพื่อการอุปสมบท ทั้ง ๆ ที่บ้านท่านก็อยู่ใกล้กับวัดโสมนัสฯ เมื่อแรกเรียนหนังสือก็เรียนอยู่ในวัดโสมนัสฯ ท่านและโยมบิดา-มารดาเคยมีความสัมพันธ์กับวัดโสมนัสฯ เป็นอันดีตลอดมา ตลอดทั้งการที่ท่านได้เลือกเอาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรเถระ) เป็นอุปัชฌาย์ ในการตัดสินใจ "บวชหน้าไฟ" เพื่ออุทิศกุศลถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2468 (ถ้านับอย่างปัจจุบันก็จะเป็นปี พ.ศ. 2469 แล้ว) นั้น
นอกจากจะแอบสังเกตดูลายมือของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในสมัยนั้น เวลาที่ท่านเข้าประเคนของถวายหรือขอดูโดยตรงจากพระเถระบางองค์ตามที่โอกาสจะอำนวย จนกระทั่งมาพบลายมือท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์และได้ดูลักษณะทุกอย่าง จึงได้ตกลงใจเลือกเอาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นพระอุปัชฌาย์ในการบวชดังเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว
ยังได้ทราบจากคำบอกเล่าของญาติผู้ใกล้ชิดของท่านมาอีกทางหนึ่ง เป็นข้อเท็จจริงที่แปลกออกไปจากเรื่องที่ทราบกันมาแล้ว แต่เป็นเรื่องที่น่ารับฟังไว้จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังไว้ ณ ที่นี้บ้าง
ระหว่างที่มีการบำเพ็ญกุศลเนื่องในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 นั้น ได้มีการทำบุญถวายสลากภัตเพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลเป็นประจำทุก 7 วัน ในพระบรมมหาราชวัง โดยได้กำหนดให้ข้าราชบริพารชั้นพระยาพานทองสายสะพายรับเป็นเจ้าภาพ จัดเครื่องไทยธรรมถวายพระที่ไปในโอกาสนั้นด้วยการจับฉลาก
ท่านธมฺมวิตกฺโกหรือเจ้าคุณนรรัตนฯ ในเวลานั้น บังเอิญจับสลากได้พระดีคือ ได้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งขณะนั้นยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระศาสนโสภณ เจ้าคณะรองคณะธรรมยุตินิกาย ก็เลยเกิดศรัทธาในรูปโฉมของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่ละม้ายคล้ายพระสิริโฉมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ซึ่งมีความเคารพและภักดียิ่งชีวิต กล่าวอย่างธรรมสามัญก็คือ เจ้าประคุณสมเด็จฯ มีรูปร่างอ้วน ขาว และศรีษะล้านละม้ายกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก
จากรูปโฉมนี้เองเป็นจุดแรงที่โน้มเหนี่ยวให้เกิดศรัทธา กอปรกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ องค์นั้น มีบุคลิกและอัธยาศัยสุภาพ สุขุม นุ่มนวลละมุนละมัยเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็น และได้มีโอกาสสนทนาวิสาสะด้วย เป็นสมณะที่สงบและเคร่งครัดต่อการประพฤติปฏิบัติเป็นอย่างยิ่งรูปหนึ่ง และเป็นพระเถระที่มีเมตตาเป็นอย่างสูงแก่ทุก ๆ คนไม่เลือกหน้าว่าจะมั่งมีหรือยากจน จะเป็นคนชั้นสูงหรือชั้นต่ำ ฯลฯ
จากรูปโฉมและบุคลิกปฏิปทาของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ดังกล่าว ได้ทำให้เจ้าคุณนรรัตนฯ บังเกิดศรัทธาและเคารพเลื่อมใสในองค์ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นยิ่งนัก
ดังนั้นพอเสร็จกิจพิธีถวายสลากภัต เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลในวันนั้นแล้ว ท่านก็ตามไปส่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จนถึงวัดเทพศิรินทราวาสเลยทีเดียว และก็คงจะได้ไปมาหาสู่เป็นประจำตั้งแต่นั้นมาพร้อมกับได้ตัดสินใจเลือกท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นอุปัชฌาย์ ด้วยเชื่อมั่นว่าได้เลือก "พ่อ" ในเพศใหม่คือเพศบรรพชิตที่เพรียบพร้อมเหมาะสมถูกใจเป็นอย่างยิ่งจริง ๆ แล้ว
พอถึงวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 24 มีนาคม 2468 ท่านก็เข้ารับการบรรพชาอุปสมบทจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ภายในพระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส เพื่อน้อมเกล้าฯ อุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น เป็นการบวชอย่างที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "บวชหน้าไฟ"
พอบวชเสร็จแล้ว ค่ำวันนั้นท่านก็ได้ไปร่วมในพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง พร้อมกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ อุปัชฌาย์
เกี่ยวกับองค์อุปัชฌายะคือ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรเถระ) นั้น ท่าน ธมฺมวิตกฺโกมีความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง ได้เพียรพยายามประพฤติปฏิบัติตามคำอบรมสั่งสอนอย่างเคร่งครัด พระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่งเล่าว่าทุกครั้งที่ท่านธมฺมวิตกฺโกเดินผ่านกุฏิสมเด็จซึ่งอยู่หลังพระอุโบสถนั้น ท่านจะต้องพนมมือไหว้ด้วยความเคารพนอบน้อมทุกคราวไป และท่านไม่เคยสวมรองเท้าผ่านกุฏิท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เลย
เมื่อสมเด็จพระอุปัชฌายะถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2494 ในวันพระราชทานเพลิงศพ ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2495 นั้น ท่านธมฺมวิตกฺโกได้เดินตามกระบวนแห่โกศศพสมเด็จพระอุปัชฌาย์ไปตามถนนกรุงเกษมเลี้ยวเข้าถนนหลวงและถนนพลับพลาไชยตามลำดับ จนกระทั่งถึงเมรุ ซึ่งคิดว่าเป็นครั้งสุดท้ายที่ท่านออกไปเดินถึงบริเวณนอกเขตวัด หลังจากที่มิได้ย่างกรายออกมาสู่โลกภายนอกเลยเป็นเวลานานกว่า 20 ปีแล้ว
เล่ากันว่าขณะที่ท่านได้เดินย่างเหยียบลงไปบนพื้นถนนที่ลาดด้วยยางตามแบบอย่างของถนนสมัยใหม่ ท่านได้กล่าวพึมพำออกมาว่า
"เมื่อก่อนไม่มีอย่างนี้นี่"
ทุกวันที่ 8 มิถุนายน ที่เวียนมาถึงของแต่ละปี ซึ่งทางวัดเทพศิรินทราวาสได้จัดงานบำเพ็ญกุศล เนื่องในวันคล้ายวันมรณภาพของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นประจำทุกปีนั้น เวลาเช้าจะมีการอัญเชิญโกศอัฐิของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จากกุฏิสมเด็จมายังพระอุโบสถเพื่อบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ตอนเย็นก็จะอัญเชิญกลับ ในการนี้ท่านธมฺมวิตกฺโกได้ไปร่วมในการเดินส่งอัฐิสมเด็จพระอุปัชฌาย์นี้ทั้งขาไปและขากลับเป็นประจำทุกปีไม่เคยขาด
นอกจากนี้ยังรับเป็นเจ้าภาพเครื่องไทยธรรมสำหรับถวายพระสงฆ์ที่มาเจริญพระพุทธมนต์และพระสงฆ์ที่มาแสดงพระธรรมเทศนาในการนี้เป็นประจำ
จากการสังเกตของพระภิกษุสงฆ์บางรูปในวัดเทพศิริทราวาสเล่าว่า ในการกราบพระประธานในพระอุโบสถนั้นจะเห็นท่านธมฺมวิตกฺโกกราบครั้งที่ 1-2 อันเป็นการคารวะต่อพระพุทธ พระธรรม ตรงไปยังพระประธาน พอจะกราบครั้งที่ 3 อันเป็นการคารวะต่อพระสงฆ์นั้น ท่านจะเฉียงทิศกราบมุ่งไปยังรูปหล่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระอุปัชฌายะ ที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถเป็นประจำ
ความกตัญญูของท่านธมฺมวิตกฺโกที่มีต่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จอุปัชฌาย์นั้นสนิทแน่นสม่ำเสมอ ดังเสมือนความกตัญญูของพระสารีบุตร องค์อัครสาวกของสมเด็จพระบรมศาสดาที่มีต่อพระอัสสชิในครั้งพุทธกาลนั่นทีเดียว
ในการประกอบพิธีสวดอธิษฐานจิตครั้งใหญ่ทุกคราว จะต้องอัญเชิญรูปถ่ายของท่านเจ้าประคุณสมเด็จอุปัชฌาย์ไปประดิษฐานอยู่ที่หน้าฐานชุกชีพระประธานในพระอุโบสถเพื่อให้ท่านได้กราบสักการะและอธิษฐานจิตทุกครั้งไป
ในการรับเป็นเจ้าภาพเครื่องไทยธรรมสำหรับการบำเพ็จกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระอุปัชฌายะของทางวัดเป็นประจำแต่ละปีนั้น บางปีท่านได้คิดนามใหม่อันไพเราะและเป็นมงคลยิ่งถวายแด่สมเด็จพระอุปัชฌายะเพื่อให้สมกับวัตรปฏิบัติและความเคารพอย่างสูงสุดในสมเด็จฯ องค์นั้น เพื่อให้ทางบ้านจัดการเขียนลงในซองปัจจัยถวายพระในโอกาสนั้น มีหลายอย่างต่าง ๆ กัน เป็นต้นว่า
"สมเด็จพระพุทธญาณวรวิสุทธิ์มหาเถวรจารย์เจ้า ณ เทพศิรินทราสุทธาวาส"
"สมเด็จพระพุทธญาณวรอมตวิสุทธิโลกุตตราจารย์ เทพศิรินทราสุทธาวาส"
จากนามใหม่ที่ท่านคิดถวายสมเด็จพระอุปัชฌาย์เช่นนี้ แสดงว่าท่านมีความเชื่อมั่นในท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ว่าเป็นอริยสงฆ์สาวกผู้บริสุทธิ์แล้วแน่นอน
เคยมีผู้สนใจกราบเรียนถามท่านอยู่เหมือนกันว่าทำไมท่านจึงได้ตั้งชื่อใหม่แปลก ๆ ถวายแด่สมเด็จพระอุปัชฌาย์เช่นนี้ ก็ได้รับคำตอบจากท่านว่า
"สมเด็จฯ ท่านไม่ใช่พระธรรมดานะ"
เมื่อปี พ.ศ. 2510 ได้มีผู้สร้างเหรียญรูปเหมือนไปถวายให้ท่านสวดอธิษฐานจิตในพระอุโบสถ ท่านได้กล่าวเป็นเชิงตัดพ้อต่อว่า
"ไม่สมควรเพราะอาตมายังอยู่ อาตมายังไม่สิ้น" แล้วท่านก็กล่าวเป็นเชิงแนะนำต่อไปว่า
"ควรจะสร้างรูปสมเด็จฯ ซี" พูดพลางท่านก็ชี้ไปยังรูปหล่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ซึ่งประดิษฐานอยู่ทางด้านซ้ายเบื้องล่างของพระประธาน
"เพราะสมเด็จฯ ท่านเป็นอริยบุคคลแล้ว"
จากคำกล่าวของท่านธมฺมวิตกฺโกนี้ แสดงว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรเถระ) จะต้องบรรลุธรรมขั้นสูงเป็นพระอริยสงฆ์แล้วแน่นอน เพราะสมณะอย่างท่านธมฺมวิตกฺโกผู้เคร่งครัดต่อศีลาจารวัตรอย่างเด็ดเดี่ยวนี้จะไม่มีวันกล่าวเท็จหรือกล่าวคาดคะเน อย่างที่บุคคลทั่วไปมักประพฤติปฏิบัติกันอยู่เป็นอันขาด ทุกอย่างที่ท่านพูดออกมาจะต้องเป็นเรื่องจริงเป็นความจริงทั้งสิ้น
ก็โดยเหตุดังกล่าวมานี่แหละ ที่ทำให้ผู้สนใจในธรรมที่ทราบเรื่องดีมีความเชื่อมั่นโดยสนิทใจว่า ท่านธมฺมวิตกฺโกก็ต้องเป็นพระอริยบุคคลแล้วแน่นอนเช่นกัน
ทั้งนี้ก็เพราะตามหลักทางธรรมนั้น พระสงฆ์ที่สำเร็จธรรมขั้นสูงเป็นพระอริยบุคคลแล้วเท่านั้นที่จะสามารถหยั่งทราบได้โดยแน่ชัดว่า พระสงฆ์หรือสมณะรูปอื่นใดบ้างที่พระอริยบุคคล ดังที่ชอบกล่าวกันอยู่โดยทั่วไปว่า "อรหันต์ย่อมรู้ในอรหันต์"
บุคคลประเภทอื่นใดที่ยังเป็นปุถุชนกิเลสหนาอยู่ จะไม่มีวันล่วงรู้ได้เลยเป็นอันขาดว่าพระภิกษุสงฆ์รูปใดบ้างที่เป็นพระอริยบุคคล นอกจากการคาดคะเนเท่านั้น
ทุกวันนี้มีคนกล่าวคาดคะเน สดุดีพระเถระต่าง ๆ เป็นอันมาก ทั้งที่มรณภาพไปแล้วก็มี ยังมิได้มรณภาพก็มี ว่าองค์นั้นก็เป็นพระอรหันต์ องค์โน้นเป็นพระอริยบุคคล ฯลฯ ดูช่างมากมายหลายองค์เหลือเกิน จึงอาจผิดก็ได้ ถูกก็ได้ เพราะผู้กล่าวนั้นมิใช่พระอริยบุคคล
โดยที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระอริยบุคคล ท่านธมฺมวิตกฺโกก็เป็นพระอริยบุคคล ทั้งสององค์ต่างก็เป็นพระอริยบุคคลด้วยกัน ฉะนั้นเมื่อมีการสร้างรูปสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรเถระ) แห่งวัดเทพศิรินทราวาส ไม่ว่าจะเป็นรูปเหรียญเนื้อโลหะ หรือรูปพระผงก็แล้วแต่ เมื่อได้นำไปถวายให้ท่านธมฺมวิตกฺโกแผ่เมตตาประจุพลังความศักดิ์สิทธิ์ให้ พระเครื่องหรือเหรียญนั้นก็จะ "แรง" เป็นยิ่งนัก ด้วยได้รับกระแสพลังความศักดิ์สิทธิ์ถึงสองต่อ คือ "แรง" เป็นทวีคูณเลยทีเดียว ยิ่งเป็นรูปท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ และท่านธมฺมวิตกฺโกล้วนประเสริฐสูงส่งสององค์คู่กันก็ยิ่งทวีความสำคัญยิ่งขึ้นไปอีก
นี่เป็นทรรศนะของนักเลงพระเครื่องผู้นิยมบูชาในท่านธมฺมวิตกฺโก