เรื่องโครงกระดูกในกุฏิท่านเจ้าคุณนรฯ
เมื่อผมเป็นนักเรียนแพทย์ ผมได้ถูกชักชวนโดยอาจารย์ของผมสองท่านคือ ศาสตราจารย์คองดอน และท่านขุนกายวิภาควิศาล ให้สมัครทำงานเป็นนักเรียนผู้ช่วยในวิชานี้พร้อมกับเรียนแพทย์ไปด้วย ผมตกลงเพราะเกิดชอบในวิชานี้อยู่บ้างในการเป็นนักเรียนผู้ช่วยนั้น นอกจากช่วยสอนบ้างเล็กน้อยแล้ว งานส่วนใหญ่หนักไปทางเทคนิคเพื่อตระเตรียมเครื่องใช้ในการสอน สมัยนั้นโครงกระดูกที่นำมาใช้สอนต้องสั่งจากต่างประเทศ เป็นราคาค่อนข้างแพงและไม่ได้กระดูกเหมาะตามความประสงค์ เพราะเป็นกระดูกชาวต่างประเทศ และกระดูกที่ส่งมาก็มีบางส่วนชำรุด
ศาสตราจารย์คองดอนจึงให้ผมลองประกอบโครงกระดูกขึ้นใช้เอง นับเป็นการฝึกฝนที่ผมพึ่งมารู้สึกเป็นประโยชน์ในภายหลังสองประการ หนึ่งช่วยให้ผมจำต้องศึกษาโครงกระดูกที่จะประกอบละเอียดถี่ถ้วนขึ้น ทำให้ผมมีความรู้ในเรื่องโครงกระดูกดีขึ้นกว่าเดิม สองทำให้ผมรู้จักใช้มือหัดเจาะ ร้อยโครงกระดูกเหล่านั้น และช่วยให้ผมรู้จักช่วยตัวเองไม่ให้ต้องพึ่งของจากต่างประเทศ
ผมจำไม่ได้ว่าผมได้ใช้เวลาเท่าใดเกี่ยวกับเรื่องประกอบโครงกระดูก แต่จำได้ว่าผมประกอบไม่สำเร็จ เสร็จแต่เพียงกระดูกแขนขา หาวัตถุมาประกอบเป็นกระดูกอ่อนซี่โครงไม่สำเร็จ พอดีหมดกำหนดการเป็นนักเรียนผู้ช่วย ผมก็กลับไปเรียนแพทย์ต่อจนสำเร็จ พอสำเร็จก็ได้รับทุนมูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์ไปเรียนต่อในวิชากายวิภาคศาสตร์ ที่สหรัฐอเมริกาสองปี
กลับมาผมก็กลับมาช่วยปฏิบัติงาน ซึ่งตอนนี้หนักไปทางสอน ปรากฏข้อบกพร่องของการสอนในสมัยนั้นก็คือ ขาดวัตถุประกอบการสอน ผมจึงลงมือทำขึ้นหลายอย่างร่วมกับเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ในแผนก
วันหนึ่งมีคนมาติดต่อ แจ้งว่าท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิตมีความประสงค์อยากจะได้โครงกระดูกมนุษย์สักโครงหนึ่ง ไว้ช่วยในการปฏิบัติกิจของท่าน โดยท่านจะตอบแทนเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ครั้งแรกผมไม่กล้ารับปาก เพราะไม่แน่ใจว่าจะประกอบขึ้นสำเร็จหรือไม่ แต่ประการสำคัญก็คือโครงกระดูกเหล่านี้ความประสงค์เดิมใช้เฉพาะในการศึกษาเท่านั้น การจะนำไปใช้เป็นอย่างอื่นจะผิดประสงค์ของผู้อุทิศศพ แต่เนื่องจากผมได้ทราบประวัติของท่านเกี่ยวกับความกตัญญูที่ท่านแสดงกับล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ผมจึงอยากจะช่วยท่าน นอกจากนั้นก็ยังอยากได้เงินมาใช้จ่ายในการทำวัตถุที่ใช้ในการสอนด้วย เพราะการเงินในสมัยนั้นค่อนข้างจะฝืดเคือง เบิกมาใช้สอยได้ยาก
ผมได้พยายามทำอยู่หลายเดือน สุดท้ายก็ประกอบสำเร็จขึ้นเป็นโครงสมบูรณ์ แต่ไม่เรียบร้อยเหมือนกับโครงที่ทำขึ้นใหม่ โดยฝีมือของคนงานแผนก จำได้ว่าเจาะกะโหลกตอนบนไม่ได้ศูนย์ เวลาแขวนโครงกระดูกหน้าง้ำมากเกินไป แต่ผมก็ไม่ไดแก้ไข แจ้งไปยังท่านว่าผมประกอบเสร็จแล้ว ขอให้กำหนดวันด้วย ผมจะได้เอาไปส่ง ขณะที่ผมจัดแจงแขวนกระดูกให้เข้าที่ ท่านก็ถามว่าโครงมนุษย์มีกระดูกเท่าใด ผมกราบเรียนท่านว่าจำนวนเท่าใดนั้นกระผมจำไม่ได้ แต่ถ้าจะให้กระผมนับจำแนกให้ท่านดูทีละส่วนกระผมจะนับให้ท่านดู และจะชี้ให้ท่านทราบว่าจำนวนกระดูกอาจจะไม่เท่ากันได้ ความจริงผมจำไม่ได้เอง เพราะตัวเลขกับผมนั้นเป็นปฏิปักษ์กัน ท่านได้มอบเงินมาให้ผม 300 บาท ซึ่งก็ได้ใช้จ่ายในกิจการเกี่ยวกับหาวัตถุใช้ในการสอน ในการทำพิพิธภัณฑ์กายวิภาคคองดอน บางชิ้นอาจเหลือเป็นประโยชน์ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ผมจึงรู้สึกในบุญคุณของท่านอยู่ แต่ไม่เคยกลับไปหาท่านอีกเลยจนท่านถึงแก่มรณภาพ
เรื่องเกี่ยวกับโครงการดูกนี้ผมได้เล่าให้นักเรีนแพทย์ฟังอยู่หลายรุ่น และมักจะเอ่ยว่าท่านเจ้าคุณเป็นนักศึกษา มีความอยากรู้อยากเห็นในทุกสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้อง และที่สำคัญมีความกตัญญูเป็นเลิศ ควรถือท่านเป็นแบบอย่าง คนมีความกตัญญู ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ แม้จะมีอุปสรรคภัยอันตรายอย่างไรก็อาจพ้นอุปสรรคภัยอันตรายนั้นไปได้
ผมพึ่งมาทราบ ความอยากรู้อยากเห็นอยางปรับปรุงแก้ไขกิจการงานที่ท่านได้รับมอบหมายจากหนังสือเล่มนี้เช่นเดียวกัน ตอนที่ทราบว่าท่านได้ไปหาเจ้าคุณดำรงแพทยาคุณ เพื่อขอศึกษาดูการผ่าศพ หาความรู้เส้นเอ็นต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ เพื่อปรับปรุงในหน้าที่ถวายอยู่งานนวดเวลาล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 บรรทม เนื่องจากล้นเกล้าฯ ทรงมีพระวรกายอ้วน เส้นสายอยู่ลึกจะต้องจับนวดแรง ๆ จึงจะถูกเส้น นับเป็นตัวอย่างอันดีในความประพฤติของท่านอีกประการหนึ่ง
ผมต้องขอโทษที่เล่าเรื่องมาเสียไกล นอกออกไปจากเรื่องที่ผมอยากจะได้กระดูกมาไว้เกี่ยวกับประวัติของวิชากายวิภาคศาสตร์ ถ้าไม่เป็นการรบกวนจนเกินไป ผมขอความกรุณาช่วยติดต่อให้ผมด้วย
ในที่สุดนี้ผมขอแสดงความยินดีที่หนังสือต่าง ๆ ที่คุณพิมพ์มีประโยชน์ต่อบุคคลเป็นจำนวนมาก ขอกุศลที่คุณปฏิบัติจงช่วยให้คุณมีความสุข ความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป
โดยความนับถือ
(ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร)
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์
คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
............................................................... |