พระเครื่องทั้งหมด 3760 ชิ้น
ตะกร้าพระเครื่อง : ( 0 )
สารบัญหลัก
พระท่านเจ้าคุณนรฯ (1382) พระเครื่องอื่น ๆ (964) เครื่องรางของขลัง (10) พระบูชา (67)
บทความ
ประวัติสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ประวัติท่านเจ้าคุณนรฯ
ประวัติสมเด็จพระวันรัต
ตำนานพระพุทธรูป
หลัการดูพระเบื้องต้น
เปิดโลกสมเด็จ
เปิดโลกพระกรุ
ทำเนียบสมเด็จพระสังฆราชไทย
ประวัติการสร้างพระเครื่อง
อ่านบทความทั้งหมด
กระดานสนทนา
เว็บบอร์ดพระวัดเทพศิรินทราวาส เว็บบอร์ดพระทั่วไป ซื้อขายแลกเปลี่ยน
เมนูช่วยเหลือ
วิธีการบูชา วิธีการชำระเงิน คำถาม-ตอบ เกี่ยวกับเรา แผนที่ร้านฯ ติดต่อเรา นโยบายคุกกี้
อัตราแลกเปลี่ยน
ตรวจสอบการจัดส่งสินค้า
 
ชำระผ่านธนาคาร ธ.ไทยพาณิชย์ 114-2-16175-0 ธ.กรุงเทพ 905-0-00725-2 ธ.กรุงไทย 086-037-0-04433-9


ประวัติตอนบวช

ประวัติตอนบวช
 
 
                                     

ร.ต. การุณย์  เหมวนิช นบ., น.บ.ท.
 
          ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต รับราชการจนกระทั่งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 สวรรคต ท่านจึงได้บวชอุทิศถวายพระราชกุศล เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2468 ที่วัดเทพศิรินทราวาสโดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอุดมศีลคุณและพระพุทธวิริยากร เป็นพระกรรมวาจาจารย์และอนุสาวนาจารย์ ท่านได้บอกว่าตำแหน่งของท่านนี้ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตก็จะบวชถวายพระราชกุศล มีตัวอย่างมาเสมอแต่ไม่มีใครบวชถวายตลอดชีวิตตั้งแต่หนุ่มเหมือนท่าน ส่วนท่านเองนั้นครั้งแรกก็ไม่ได้คิดจะบวชถวายตลอดชีวิตเช่นกัน แต่จะเพราะเหตุใดท่านจึงไม่ลาสิกขา ผมจะไว้กล่าวตอนต่อไป ตอนนี้จะขอกล่าวถึงเหตุใดท่านจึงได้มาบวชที่วัดเทพศิรินทราวาสก่อน ในเมื่อบ้านท่านก็อยู่ใกล้วัดโสมนัส และท่านเองก็เรียนที่วัดโสมนัส ท่านมีอะไรเกี่ยวข้องกับวัดเทพศิรินทราวาสมาก่อนหรือ ตอนนี้แหละที่วิชาดูลายมือได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของท่านดังที่ผมได้กล่าวมาข้างต้น ท่านบอกว่าเมื่อท่านตัดสินใจแน่วแน่ที่จะบวชแล้ว ท่านพิจารณาเห็นว่าการบวชนี้ก็เท่ากับว่าได้เกิดในเพศใหม่ มีพระอุปัชฌาย์เป็นพ่อ ฉะนั้นท่านก็ควรจะเลือกพ่อให้ดีที่สุดในเมื่อท่านมีสิทธิ์จะเลือกได้ วิธีเลือกของท่านนั้นท่านได้อาศัยวิชาดูลายมือและวิชาดูลักษณะเป็นหลักเกณฑ์ โดยท่านได้นำภัตตาหารไปถวายพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในสมัยนั้น เวลาจะประเคนท่านแอบดูลายมือขณะที่พระรับประเคนของบ้าง ขอดูบ้างเมื่อมีโอกาสสมควรและไม่ขาดคารวะ ท่านทำดังนี้อยู่หลายวัดจนกระทั่งถึงวัดเทพศิรินทราวาส ท่านได้เห็นลายมือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ตลอดจนเห็นลักษณะทุกอย่างแล้วท่านก็ปลงใจว่า จะเลือกสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นพ่อในการเกิดเป็นพระภิกษุในครั้งนี้ ท่านจึงได้มาขอบวชที่วัดเทพศิรินทราวาส นอกจากนี้เมื่อสมัยที่ท่านรับราชการอยู่ท่านก็ได้รู้จักสมเด็จอุปัชฌาย์มาก่อนแล้ว โดยสมเด็จไปเทศน์ในวัง ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าท่านธมฺมวิตกฺโกเป็นผู้สุขุมละเอียดอ่อนมากในการจะตัดสินใจทำอะไร โดยมากท่านจะคิดวางโครงการเป็นขั้นเป็นตอนว่า จะทำอะไร และทำให้ได้เพียงใดก่อนเสมอ 
          ส่วนเรื่องที่ท่านไม่ได้คิดบวชจนตลอดชีวิตมาแต่แรก แล้วทำไมจึงตัดสินใจบวชจนตลอดชีวิตนั้น ท่านบอกว่าตามโครงการของท่านนั้น ท่านได้วางไว้ว่าจะบวชถวายพระราชกุศลเพียงหนึ่งพรรษา แล้วหลังจากนั้นท่านจะแต่งงานแล้วเดินทางไปศึกษาต่อที่อเมริกา แล้วจะกลับมารับใช้ชาติต่อไป แต่เมื่อบวชครบพรรษาแล้ว ท่านกลับไม่คิดลาสิกขา เหตุที่ท่านไม่ลาสิกขานี้ท่านบอกว่า เพราะได้กัลยาณมิตรในทางธรรมแล้วคือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระอุปัชฌาย์ของท่านเอง สมเด็จฯ ได้สอนเรื่องอริยสัจสี่แก่ท่าน จนท่านเห็นความทุกข์ที่แทรกซ้อนอยู่ในความสุข จนกล่าวได้ว่าไม่มีความสุขใดในชีวิตฆราวาสที่จะไม่มีความทุกข์ซ้อนอยู่ในความสุขนั้น และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตของท่านที่ผ่านมา ท่านก็เห็นได้ชัดเจนว่า ชีวิตเป็นทุกข์อย่างแท้จริง และอยากจะใฝ่หาทางพ้นทุกข์ อย่างไรก็ดีท่านก็บอกว่าท่านยังไม่ตัดสินใจจะบวชตลอดชีวิตอยู่นั่นเอง แต่จะบวชไปก่อน การบวชไปก่อนของท่านนั้นไม่ได้บวชอย่างขอไปทีหรือบวชอย่างคนที่ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะลาสิกขาหรือไม่ ซึ่งการบวชดังกล่าวมานี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บวชแต่อย่างใด นอกจากจะอยู่ไปวันหนึ่ง ๆ แต่สำหรับท่านธมฺมวิตกฺโก ท่านไม่ได้ปล่อยให้เวลาล่วงไปวันหนึ่ง ๆ อย่างเปล่าประโยชน์ ท่านบวชและเจริญสมาธิอย่างเข้มงวดในช่วงระยะเวลานี้ เพียงแต่ยังไม่ได้ตั้งใจจะบวชจนตลอดชีวิตเท่านั้น และจากการปฏิบัติของท่านนี้ ก็เกิดผลให้ท่านสมดังใจทำให้ท่านตัดสินใจได้ภายหลัง ผมได้เรียนถามท่านว่าแล้วท่านตัดสินใจบวชตลอดชีวิตเมื่อใด ท่านบอกว่าท่านตัดสินใจหลังจากบวชแล้วประมาณ 6 ปี ขณะนั้นท่านเกิดเบื่อหน่ายทุกสิ่งทุกอย่าง มีความบันเทิงแต่ในทางธรรมเพียงอย่างเดียว และเห็นความเป็นอนิจจังของบ้านเมือง จนเล็งเห็นว่าแม้ท่านจะลาสิกขาออกไป ท่านก็ไม่อาจจะไปใช้ชีวิตดังเดิมได้ ในเมื่อจิตใจของท่านเบื่อหน่ายต่อชีวิตการครองเรือน มองเห็นแต่ความทุกข์ หากลาสิกขาบทไปก็เท่ากับไปใช้ชีวิตอย่างเดิมอีก ในเมื่อท่านได้ก้าวออกมาจากชีวิตนั้นแล้ว เป็นอิสระแล้ว จะย้อนกลับไปใช้ชีวิตเช่นนั้นอีกทำไมเล่า เหมือนก้าวขึ้นมาจากโคลนตมแล้วกลับกระโดดลงไปอีกฉะนั้น ส่วนที่ท่านบอกว่า เห็นความเป็นอนิจจังของบ้านเมืองจนคิดเบื่อหน่ายนั้นก็คือ เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ทรงตั้งสมาคมเจ้า และท่านปรีดี พนมยงค์ ตั้งสมาคมราษฎร์ขึ้นมา ท่านจึงพิจารณาเห็นว่าท่านไม่อาจไปใช้ชีวิตฆราวาสได้อีกอย่างแน่นอน เพราะชีวิตฆราวาสเป็นชีวิตที่ต้องต่อสู้โดยไม่รู้ว่าต่อสู้ไปทำไม เพื่ออะไร  ในเมื่อชีวิตนี้เป็นทุกข์ควรจะต่อสู้เพื่อให้พ้นทุกข์มิดีกว่าหรือ การที่ท่านตัดสินใจอย่างนี้ ผมคิดว่าคงจะเป็นผลจากการเจริญสมาธิของท่านนั่นเอง ท่านเองก็เคยปฏิเสธตำแหน่งทางราชการมาแล้ว เมื่อครั้งที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 รับสั่งให้เจ้าคุณไพชยนต์เทพฯ (ทองเจือ ทองใหญ่) มาติดต่อให้ไปรับราชการกับพระองค์ท่าน ซึ่งท่านธมฺมวิตกฺโกก็ได้กล่าวตอบในเชิงปฏิเสธว่า "ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ชุบเลี้ยงมาก็เปรียบเสมือนแปรธาตุตะกั่วเป็นทองคำ แม้จะทรงนำไปชุบเลี้ยงอย่างไรอีกก็เท่ากับเอาทองคำไปลงยาฝังเพชรเท่านั้น" และเพื่อเป็นการยืนยันว่า พระองค์ท่านต้องการให้กลับไปรับราชการอย่างแท้จริง ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ทรงแต่งตั้งท่านธมฺมวิตกฺโกเป็นองคมนตรีของพระองค์ท่าน เมื่อ 4 เมษายน 2469 ในขณะที่ยังครองสมณเพศอยู่ ก่อนที่ท่านธมฺมวิตกฺโกจะบวชนั้นท่านมีทรัพย์สินมากพอจะเป็นเศรษฐีในสมัยนั้นได้ เมื่อท่านบวชแล้วท่านก็ได้บริจาคทรัพย์สินที่ท่านมีอยู่ให้เป็นสมบัติแก่พระศาสนา โดยท่านได้บริจาค 
          1.ที่ดินที่จังหวัดนครปฐม จำนวน 7 ไร่ ได้ถวายให้แก่วัดเสน่หา จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2470 
          2.ที่ดินที่ตำบลพญาไท อำเภอดุสิต นครหลวงฯ (พระนคร) จำนวนเนื้อที่ดิน 5 ไร่ 67 ตารางวา ได้ถวายให้แก่วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2475 
ที่ดินเหล่านี้ หากจะขายในเวลานี้ (พ.ศ. 2516) คงจะมีมูลค่านับสิบล้านบาท ส่วนในด้านคู่ครองท่านก็มีคู่หมั้นอยู่ก่อนที่จะบวชคือ คุณชุบ มานะเศวต นับว่าชีวิตของท่านในทางฆราวาสไม่ขาดตก 
บกพร่อง หากท่านไม่บวชท่านก็สามารถใช้ชีวิตของฆราวาสได้อย่างสบายไม่เดือดร้อน และไม่อดตายอย่างที่ใคร ๆ เขาว่าท่าน แต่ท่านกลับสละทรัพย์สมบัติ คนรัก จนหมดสิ้น ท่านบอกว่าคุณหญิงซึ่งเป็นพี่สาวคุณชุบบอกว่า คุณชุบหมั้นกับใครก็ไม่หมั้นมาหมั้นกับพระยานรรัตนฯ บ้า ๆ หมั้นเขาแล้วกลับบวชไม่สึก ตอนนี้ผมได้เรียนถามท่านว่าทำไมเลือกคุณชุบเป็นคู่หมั้น ท่านมีหลักเกณฑ์อย่างไร ท่านบอกว่าท่านเลือกคุณชุบ เพราะคุณชุบไม่สวยและดื้อเหมือนกับท่าน และอีกอย่างหนึ่งคุณชุบเป็นลูกคุณหลวง ท่านบอกว่าท่านรักและเคารพคุณพ่อของท่าน ไม่ต้องการแต่งงานกับผู้หญิงที่บิดามีฐานะเหนือกว่าคุณพ่อของท่านซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็นคุณพระ เพราะท่านเกรงว่าจะไม่ให้ความเคารพคุณพ่อของท่าน ปัจจุบันนี้คุณชุบก็ยังมีชีวิตอยู่และเป็นหญิงใจเดียว คุณชุบ มานะเศวต ครองตัวเป็นโสดตลอดมาโดยไม่ได้แต่งงานกับใคร นับว่าเป็นยอดหญิงที่หาได้ยากยิ่ง เมื่อท่านธมฺมวิตกฺโกมรณภาพ คุณชุบก็มาเคารพศพอยู่เสมอ และทำบุญอุทิศให้แก่ท่านตามกำลังความสามารถ (หากคุณชุบได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะคิดอย่างไรผมไม่อาจคาดได้ ผมได้แต่ตั้งจิตขออภัยไว้ในที่นี้ หากมีอะไรไม่สมควรก็ขออภัยด้วย เพราะการเขียนประวัติของท่านนั้นไม่อาจจะไม่กล่าวถึงคุณชุบได้เลย ผมเขียนตามที่ท่านบอกเล่าให้ฟังและด้วยความเคารพอย่างสูงสุดต่อท่านธมฺมวิตกฺโก ผู้มีคุณต่อผมอย่างมหาศาล ผมพยายามจะเขียนทุกอย่างที่ท่านเล่าให้ฟัง ไม่ปรารถนาจะให้เสื่อมเสียแก่ใคร ในทางกลับกันผมปรารถนาจะเขียนเพื่อเทิดทูนท่านธมฺมวิตกฺโกและทุกคนที่เกี่ยวข้องกับท่าน) สำหรับเรื่องของคุณชุบท่านได้เล่าให้ฟังอีกว่า หลังจากท่านบวชแล้วคุณชุบก็บวชบ้างโดยไปเป็นอุบาสิกาถือศีลอยู่ที่วัดโสมนัส ตลอดเวลาที่ท่านบวชท่านห้ามมิให้คุณชุบมาเยี่ยมเยียนท่านเว้นแต่มีธุระจำเป็น ท่านเกรงจะเป็นที่ครหาของผู้อื่น ท่านบอกว่าเมื่อคุณชุบถือศีลอยู่หลายปี คุณชุบมาหาท่านบอกว่าจะขอลาสึก เพราะเห็นว่าชีวิตของอุบาสิกาไม่สู้จะทำประโยชน์ให้แก่ใครมากนัก หากสึกแล้วไปเป็นครูสอนหนังสือดูจะเป็นประโยชน์มากกว่า ซึ่งท่านก็อนุญาต ท่านธมฺมวิตกฺโกเคยพูดถึงคุณชุบตอนนี้ว่าเขาเก่งเหมือนกัน ท่านธมฺมวิตกฺโกท่านชอบพูดอะไรตรง ๆ ไม่อ้อมค้อม ท่านบอกว่า "อาตมาพูดจาไม่ค่อยอ่อนหวาน เป็นคนขวานผ่าซาก" แม้เมื่อรับราชการอยู่ในวังท่านก็พูดตรงจุดตรงเป้าเสมอ บางท่านอาจจะเห็นว่าท่านพูดจาหยาบคาย แต่หากท่านผู้อ่านมาเห็นได้ยินขณะท่านพูดแล้วจะรู้สึกว่าท่านไม่หยาบเคยเลย เห็นจะเป็นว่าขณะที่ท่านพูด ท่านพูดด้วยจิตใจบริสุทธิ์ไม่ประสงค์จะให้หยาบคาย หากประสงค์จะให้ผู้ฟังเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ท่านเคยกรุณาให้โอวาทสั่งสอนผมหลายครั้ง แต่ละครั้งท่านพูดอย่างชนิดที่เรียกว่าสะใจทุกครั้ง เมื่อจบแล้วท่านจะบอกว่าที่ต้องพูดอย่างนี้ต้องการให้เจ็บต้องการให้จำ คนเราเจ็บแล้วจำและพยายามกลับตัวใหม่เป็นคนดี ท่านสอนเสมอว่าเมื่อทำผิดแล้วไม่ต้องเสียใจ แต่ให้พยายามจำไว้เป็นบทเรียนว่าจะไม่ทำผิดเช่นนั้นอีก และท่านจะยกคำกลอนในอุทานธรรมมาสอนว่า 
ปิ้งปลาหมองอแล้วกลับนี่คำขำ 
เจ็บแล้วจำใส่กระบาลนี่ขานไข 
ผิดแล้วแก้กลับตัวเปลี่ยนหัวใจ 
จะหาใครมาวอนไม่สอนตน 
คำกลอนในอุทานธรรมนี้ท่านธมฺมวิตกฺโก ท่านจำได้หมดและมักจะยกมาพูดเมื่อเกี่ยวกับเรื่องที่ท่านพูดถึง ท่านบอกว่าผู้แต่งอุทานธรรม คือ ท่านเจ้าคุณสาสนโสภณ (แจ่ม จตสฺสลฺล) ได้เอาคำกลอนนี้มาให้ท่านระหว่างสงคราม ตอนนั้นไม่ค่อยจะมีใครอยู่วัด สมเด็จอุปัชฌาย์ก็ไปอยู่วัดเขาบางทราย ชลบุรี ท่านเจ้าคุณสาสนโสภณได้มาเยี่ยมท่านและถามว่ายังไม่ตายหรือ ท่านก็ตอบว่ายังไม่ตาย ท่านได้มอบอุทานธรรมให้ท่านเล่มหนึ่ง และท่านก็ท่องจำได้แต่นั้นมา ใครก็ตามที่เคยพบท่านจะต้องเคยได้ยินท่านให้พรว่า "จงเลือกทำแต่กรรมที่ดี ๆ นะ" ซึ่งก็มีที่มาจากอุทานธรรมเช่นกัน โดยมีบทเต็มว่า 
รักษาตัวกลัวกรรมอย่าทำชั่ว 
จะหมองมัวหม่นไหม้ไปเมืองผี 
จงเลือกทำแต่กรรมที่ดีดี 
จะได้มีความสุขพ้นทุกข์ภัย 
คำให้พรของท่านที่ว่า จงเลือกทำแต่กรรมที่ดีดีนั้น ผมเคยเรียนถามว่าชีวิตของคนไม่เหมือนกัน บางคนเกิดมาไม่มีโอกาสจะทำกรรมดีเลย เพราะไปเกิดในประเทศที่ไม่สมควร ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วจะทำอย่างไร ท่านบอกว่าถ้าเป็นอย่างนั้นก็สุดแต่บุพกรรม แต่โดยปกติแล้วคนใจแข็งต้องเว้นจากกรรมชั่วเลือกทำแต่กรรมดีได้ และท่านได้กรุณาบอกถึงลักษณะของคนใจแข็งว่าจะต้องประกอบด้วย 
1.ไม่บ่น 
2.ไม่ร้องทุกข์  
3.ไม่อยากรู้ความลับของใคร 
4.ไม่บอกความลับของตนแก่ใคร 
5.ไม่สนใจใครว่าจะเห็นตนเป็นอย่างไร 
6.ไม่กลัวความทุกข์ยาก 
7.รู้จักเอาความทุกข์ยากมาเป็นประโยชน์สร้างความก้าวหน้าในชีวิต
 
          เมื่อระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนในกรุงเทพฯ ได้อพยพออกไปอยู่บ้านนอกกันเป็นส่วนมาก ไม่ยกเว้นแม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้า พระในวัดเทพศิรินทราวาสก็อพยพ แต่ท่านธมฺมวิตกฺโกไม่ได้ไปไหนเลย ท่านอยู่ที่กุฎิของท่านตลอดระยะเวลาสงครามครั้งนี้ ท่านได้เล่าเหตุการณ์ว่าทางด้านหลังวัดซึ่งปัจจุบันเป็นบริเวณสุสานหลวงได้มีทหารญี่ปุ่นมาพักเต็มไปหมด และอาบน้ำในสระของวัดซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นสระเต่า ที่หน้ากุฏิของท่านเดิมเป็นศาลาใหญ่ ปัจจุบันได้รื้อออกแล้วสร้างเป็นโรงเรียนปริยัติธรรม 
          ที่ศาลานี้ในระหว่างสงครามโลกได้มีญี่ปุ่นเอาเครื่องรับวิทยุมาตั้ง โดยเห็นว่าเป็นวัดไม่เป็นที่สงสัย และมีเจ้าหน้าที่มาคอยควบคุมเครื่องส่งวิทยุนี้ วันหนึ่งมีผู้มาบอกท่านว่าจะมีเครื่องบินเอาระเบิดมาทิ้งเครื่องวิทยุที่ตั้งอยู่ที่ศาลาให้ท่านหลบไปเสีย ท่านเล่าว่าท่านไม่ยอมหลบแต่กลับนั่งรอคอยอย่างสงบ เวลาประมาณหลังเที่ยงวันมีเสียงเครื่องบินผ่านมา ท่านก็เปิดหน้าต่างออกมาดูเห็นเครื่องบินวนอยู่หลายรอบและที่สุดก็ทิ้งระเบิดลงมา ท่านได้ร้องถามในใจว่า "Do you kill me, my friend?" แล้วก็มองดูลูกระเบิด ปรากฏว่าลูกระเบิดได้ผ่านศาลาและกุฏิท่านไป ลูกแรกไปตกข้างโบสถ์ ถัดจากนั้นก็ไปตกถูกตึกโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์และตึกที่ทำการของการรถไฟแห่งประเทศไทย ผลปรากฏว่าโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ คือ ตึกแม้นนฤมิต และตึกของการรถไฟฟังพินาศ ส่วนลูกที่ตกข้างโบสถ์นั้นไม่ระเบิด ภายหลังได้ติดต่อเจ้าหน้าที่มาขุดเอาไป ท่านบอกว่าพระเชียงแสนและพระประธานในโบสถ์ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าลูกระเบิดที่ตกนั้นระเบิดขึ้นมา โบสถ์ก็คงพังเสียหายมาก ท่านผู้อ่านที่นับถือท่านอาจจะคิดว่าที่ลูกระเบิดด้านไปเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของท่านธมฺมวิตกฺโก แต่สำหรับผมไม่ขอวิจารณ์ด้วย สำหรับท่านเองท่านไม่กลัวความตาย จึงไม่อพยพหนีไปไหน ท่านบอกว่าความตายคือมิตรที่ดีที่สุด นำความสงบมาให้ และเป็นมิตรที่ซื่อตรงจะมาถึงทุกคนอย่างแน่นอนไม่ว่าจะมั่งมียากจนดีหรือชั่ว จะต่างกันก็แต่ช้าหรือเร็วเท่านั้น นอกจากนี้การระลึกถึงความตายเป็นอนุสติอีกด้วย ถึงตอนนี้ท่านธมฺมวิตกฺโกก็ยกเอากลอนในอุทานธรรมมากล่าวว่า 
                                                                ระลึกถึงความตายสบายนัก 
มันหักรักหักหลงในสงสาร 
ทั้งมืดมนโมหันต์อันธกาล    
ทำให้หาญหายสะดุ้งไม่ยุ่งใจ 
          ท่านธมฺมวิตกฺโกอยู่ในวัดเทพศิรินทราวาสตลอดระยะสงครามโดยปลอดภัย เวลากลางคืนท่านก็ลงจำวัดในหีบศพที่โยมพ่อต่อเอามาให้ แล้วใช้จีวรคลุมบนหีบศพต่างมุ้ง ท่านบอกว่าหากพลาดพลั้งระเบิดตกลงมา เวลาคนมาเก็บศพก็ไม่ลำบาก ท่านไม่ยอมออกจากวัดจริง ๆ การไม่ยอมออกจากวัดนี้เป็นความตั้งใจเด็ดขาดของท่านเอง แม้เมื่อโยมพ่อและโยมแม่เสียชีวิตท่านก็ไม่ยอมออกไปเยี่ยมศพ เพียงแต่สั่งการให้ใครทำอะไร และทำอย่างไรเท่านั้น นอกจากนี้ท่านบอกวาท่านได้นั่งสวดอุทิศส่วนกุศลไปให้ 
          ท่านธมฺมวิตกฺโกมีหนังสือไว้สำหรับแจกผู้ที่ไปหาท่าน ชื่อหนังสือ สันติวรบท โดยมีคำสอนของท่าน 9 ข้อ นอกจากนั้นก็เป็นบทสวดมนต์และอื่น ๆ ผมได้เคยรับแจกจากท่านตั้งแต่คำสอนของท่านยังมีเพียง 6 ข้อ แต่มาเมื่อท่านพิมพ์เพิ่ม ผมก็ได้รับแจกจากท่านเรื่อยมาจนเล่มสุดท้ายที่ท่านพิมพ์มีคำสอนของท่าน 9 ข้อ มีคำสอนหนึ่งท่านให้ชื่อว่าดอกมะลิ ตอนนั้นยังไม่พิมพ์รวมในเล่มเดียวกัน แต่ท่านพิมพ์ในแผ่นกระดาษสี่เหลี่ยม ท่านได้แจกให้กับผมเมื่อปี พ.ศ. 2510 พร้อมกับกระดาษอีกแผ่นหนึ่ง เป็นรูปดอกบัวมีแปดกลีบ และมีรูปเพชร 3 เม็ดอยู่บนดอกบัวนั้น ท่านได้อธิบายให้ฟังว่า ดอกบัวที่มีแปดกลีบหมายถึงอริยมรรคอันมีองค์แปดและเพชรหมายถึงพระรัตนตรัย นอกจากนี้ดอกบัวเป็นดอกไม้อันเกิดมาแต่โคนตมแต่น้ำ แต่ดอกบัวก็ไม่ติดโคลนติดน้ำ  เพชรเกิดมาแต่หินแต่เพชรก็ไม่ติดหิน ฉันใดก็ดี คนเราที่เกิดมาในโลกก็ไม่ควรติดโลกฉันนั้น และภาพอันเกิดจากจินตนาการของท่านธมฺมวิตกฺโกนี้ ผมได้เอามาเป็นภาพปกของหนังสือเล่มนี้แต่เขียนขึ้นใหม่เพราะภาพเดิมหายไป ส่วนคำสอนที่มีชื่อว่าดอกมะลิ ต่อมาท่านได้พิมพ์รวมในหนังสือสันติวรบท ท่านบอกว่าหนังสือสันติวรบทนี้ ท่านพลโทเฉลิมชัย จารุวัสตร์ ได้พิมพ์ถวาย และคุณสุชีพ ปุญญานุภาพ เป็นคนตรวจแก้ถวาย ขอให้เก็บให้ดีเอาไว้ที่หัวนอน เวลานอนจะได้อ่าน จะได้เอาธรรมะเป็นเพื่อนนอน เวลาท่านจะให้ใคร ถ้าเป็นผู้ชายท่านจะเอาใส่กระเป๋าเสื้อให้ ถ้าเป็นผู้หญิงท่านจะวางให้บนศรีษะ ถ้าเสื้อใครไม่มีกระเป๋าบางครั้งท่านก็ไม่ให้โดยบอกว่าวันหลังค่อยมาเอา ท่านจะสั่งว่าให้ไปทำปกให้ดีอย่าปล่อยให้ชำรุดเสียหาย ถ้านิยมความศักดิ์สิทธิ์ก็ให้ถือเอารูปพระที่หน้าปกหนังสือ ถ้ามีศรัทธาในเรื่องกรรมก็ให้ถือเอาคำสั่งสอนในหนังสือนั้นไปประพฤติปฏิบัติ เพราะผู้ใดปฏิบัติธรรมแล้วธรรมจะรักษาผู้ประพฤติปฏิบัติไว้ไม่ให้ตกต่ำเป็นของแน่นอนยิ่งกว่าความศักดิ์สิทธิ์ใดในโลกนี้ หนังสือสันติวรบทนี้เล่มแรกที่ข้าพเจ้าได้รับเป็นปกสีเหลืองไม่มีรูปอะไร ต่อมาท่านได้ทำเป็นรูปพระแก้วองค์เดียว และต่อมาเมื่อพิมพ์ครั้งหลังท่านได้เพิ่มรูปพระพุทธชินราช พระพุทธสิหิงค์เป็นรูปพระสามองค์ อันนับได้ว่าเป็นพระประจำเมืองของเรา ใครที่ได้รับหนังสือของท่านผมมั่นใจว่า หนังสือนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าพระเครื่องใด ๆ ของท่าน ถ้าจะนับถือความศักดิ์สิทธิ์ ขอให้เก็บรักษาไว้ให้ดีเถิด บัดนี้ท่านก็ละโลกนี้ไปแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะได้รับหนังสือนี้จากท่านอีกต่อไป ท่านธมฺมวิตกฺโกไม่เคยสอนให้ใครเชื่อในอิทธิปาฏิหาริย์ แต่สอนให้เชื่อในเรื่องกรรม ให้หมั่นทำความดี เพราะอิทธิปาฏิหาริย์ใด ๆ ก็ไม่อาจทำให้ผู้เชื่อถือหรือปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์ได้  
 
          การเขียนประวัติของท่านธมฺมวิตกฺโกนี้ แต่เดิมผมตั้งใจจะเขียนถึงท่านในด้านเดียวคือ การเจริญสมถวิปัสสนากรรมฐานของท่าน เพื่อจะให้ผู้มีศรัทธาในผลการปฏิบัติของท่านได้ถือเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติถ้าอยากจะเจริญรอยตามท่าน ซึ่งในเรื่องนี้ท่านก็ได้กรุณาเล่าให้ฟัง นับแต่เริ่มแรกการปฏิบัติของท่านแต่บวชทีเดียว แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ผมได้ฟังแต่ตอนแรกอยู่ไม่กี่ครั้ง ภายหลังท่านมีกิจธุระคือมีผู้มาเยี่ยมเยียนท่านมาก เมื่อก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2513 จนไม่มีเวลาได้พบท่านให้ท่านเล่าเรื่องดังกล่าวต่อ หลังจากวันที่ 5 ธันวาคม 2513 ผมเกือบจะไม่ได้พบท่านเลย ที่ผมบอกว่าเกือบจะไม่ได้พบนี้ คือผมได้พบเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และในครั้งนั้นไม่ได้คุยถึงเรื่องการเจริญสมถวิปัสสนากันเลย แม้จะได้คุยกับท่านเป็นเวลานานมากก็ตาม ผมเองไม่เคยคิดว่าท่านจะมรณภาพเร็วอย่างนี้ คิดอยู่เสมอว่าท่านจะต้องอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อยก็ 2-3 ปี แม้ท่านจะได้พูดเสมอว่าท่านจะอยู่อีกไม่นานท่านจะจากไปแล้ว เช่น "โรคที่อาตมาเป็นไม่หายหรอก จะหายพร้อมกับตาย แต่ไม่ต้องห่วงเพราะสังขารเป็นที่อาศัยของจิตเท่านั้น" หรือ "คุณไม่ต้องกังวลเรื่องความเจ็บป่วยของอาตมา เพราะพุทธเจ้าสอนว่า ร่างกายเป็นรังของโรค มะเร็งก็เหมือนกับกาฝากที่เกาะต้นไม้ ถ้าต้นไม้แข็งแรงกาฝากก็ตาย คุณดูต้นประดู่ที่ข้างกุฏิอาตมาซิ กาฝากมาเกาะเมื่อไรก็ตายหมด เพราะประดู่แข็งแรงกว่า แต่อาตมาตอนนี้แก่แล้วร่างกายไม่แข็งแรง คงจะแพ้กาฝาก" เป็นต้น ผมก็ไม่เคยเฉลียวใจ คิดอยู่แต่ว่าท่านจะต้องผ่านการเจ็บป่วยไปได้เหมือนทุกครั้งที่ท่านเจ็บป่วย และคงจะมีเวลาไต่ถามท่านถึงเรื่องการเจริญสมถวิปัสสนาต่อไป อีกอย่างหนึ่งแม้ท่านจะเจ็บป่วยอย่างไร ท่านก็ไม่เคยแสดงว่าท่านต้องทุกขเวทนาอยู่ ท่านสดชื่นแข็งแรงเหมือนปกติ แม้บางครั้งจะมีเลือดไหลออกจากแผนตลอดเวลา ท่านก็ไม่ร้อนใจแต่อย่างใด บอกแต่ว่าเป็นเรื่องธรรมดา 
          ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ทำให้ผมไม่อาจเขียนเรื่องการเจริญสมถวิปัสสนาของท่านอย่างละเอียดได้ นอกจากจะเขียนได้แต่เฉพาะตอนต้น ๆ ที่ท่านเล่าให้ฟังเท่านั้น ท่านเล่าว่าการทำสมาธิ ท่านได้ฝึกทำมาแต่ครั้งยังเป็นฆราวาส เมื่อท่านบวชท่านได้ฝึกต่อไปโดยตัดกระดาษเป็นรูปวงกลมติดไว้ข้างฝาห้องแล้วนั่งเพ่งจนกระทั่งท่านเห็นภาพนี้ชัด ไม่ว่าจะหลับตาหรือลืมตา เป็นภาพที่ติดอยู่ในจิต เป็นภาพนิมิต และต่อมาท่านได้ขยายภาพนิมิตนี้ในจิต ให้ใหญ่ให้เล็กได้ตามความประสงค์ หรือจะทำให้ภาพวงกลมนี้มีมากมายหลายภาพจนนับไม่ถ้วนก็ได้ การที่ท่านเลือกรูปวงกลมมาเป็นภาพสำหรับกำหนดจิต แทนที่จะเป็นพระพุทธรูปหรืออย่างอื่น ก็เพราะว่าท่านเห็นรูปวงกลมนี้เหมือนกับสังสารวัฎที่หมุนเวียนอยู่เสมอ ต่อมาเมื่อท่านเห็นว่าท่านมีกำลังจิตแรงกล้าพอแล้ว ท่านได้ทดลองอำนาจกำลังจิตของท่านโดยเอาหัวกะโหลกผีมาตั้งเรียงไว้ 4 หัวข้างที่นอนของท่าน เมื่อเตรียมการเสร็จแล้วก็รวบรวมอำนาจจิต นั่งสมาธิอยู่หน้าหัวกะโหลกผีเหล่านั้น โดยเอาหัวกะโหลกผีเป็นจุดกรรมฐาน เมื่อนั่งใหม่ ๆ ภาพที่เกิดในนิมิตปรากฏอย่างแปลกประหลาดพิศดาร โดยหัวกะโหลกเหล่านั้นได้หลอกหลอนท่าน ลอยเข้ามาหาท่านบ้าง ห่างไปบ้าง ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง แต่ภายหลังเมื่อท่านได้กำหนดอารมณ์ให้ภาพเหล่านี้ผ่านเลยไปแล้ว ท่านก็ได้เห็นหัวกะโหลกเหล่านั้นในสภาพที่เป็นจริง ไม่มาหลอกหลอนท่านอีกต่อไป ซึ่งยังความปลาบปลื้มยินดีให้แก่ท่านมากขึ้น นี่เป็นเพียงการทดลองอำนาจจิตที่ฝึกไว้ของท่านเท่านั้น และก็เป็นที่น่าเสียดาย ที่ท่านก็ได้เล่าให้ผมฟังเพียงเท่านี้ แล้วก็ไม่ได้มีโอกาสจะซักถามให้ท่านเล่าต่ออีกเลย ความหวังของผมที่จะเขียนถึงการเจริญสมถวิปัสสนาของท่านก็เป็นอันล้มเหลวไป นับเป็นเคราะห์กรรมของผมเอง และเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องแปลก เพราะเมื่อครั้งที่ผมได้ให้ท่านเล่า เพื่อจะได้เอามาเขียนหลังท่านมรณภาพแล้วนั้น ท่านได้บอกว่า "ไม่มีประโยชน์ดอก เพราะไม่คิดว่าคุณจะเขียนได้" เมื่อผมนึกขึ้นมาครั้งใด อดคิดไม่ได้ว่าท่านสามารถหยั่งรู้กาลอนาคตได้ว่า ผมไม่มีทางจะเขียนได้โดยละเอียดเลย เมื่อผมได้ฟังเพียงเท่านี้ก็ขอเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังเพียงเท่านี้ 
          บัดนี้ท่านธมฺมวิตกฺโกได้ละจากโลกไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2514 เวลาประมาณ 11.00 น. เหลือเพียงประวัติชีวิตอันบริสุทธิ์ มีแต่ความดีงามไว้ให้ทุกคนได้ดำเนินตาม ท่านเป็นตัวอย่างยืนยันถึงความสุขอันเกิดแต่ความสงบโดยแท้ คนที่ไม่ต้องการอะไรเลยในชีวิต เป็นผู้ประสบความสุขอย่างแท้จริงยิ่งกว่าคนที่ต้องการทุกอย่างในชีวิต ท่านเป็นตัวอย่างของสงฆ์ผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ ไม่มีความอยากใด ๆ ไม่ปรารถนาจะเป็นอาจารย์ของผู้ใด ไม่ใฝ่หาลาภสักการะ ไม่ใฝ่หาชื่อเสียงเกียรติคุณ เป็นผู้ปฏิบัติตรงต่อพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด มีความกตัญญูเป็นเลิศยากจะหาใครมาทัดเทียม นับแต่นี้ต่อไปแม้จะไม่มีสังขารของท่านธมฺมวิตกฺโก แต่คุณงามความดีของท่านก็จะยังคงอยู่ตลอดไปไม่เสื่อมสลาย ท่านเคยบอกว่านามฉายาของท่านคือ ธมฺมวิตกฺโก นั้นมีความหมายถึงการระลึกถึงธรรม หรือการตรึกถึงธรรม อันเป็นนามเดิมของท่าน เมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ท่านเคยบอกเสมอว่า "ถ้าคิดถึงอาตมาก็ให้คิดถึง ธมฺมวิตกฺโก เพราะ ธมฺมวิตกฺโก คือการระลึกถึงธรรม เมื่อคิดถึงเช่นนี้แล้วธมฺมวิตกฺโกก็จะอยู่ข้าง ๆ เสมอ  ไม่จำเป็นจะต้องมาหาอาตมา เพราะเมื่อมาหาก็มาเห็นแต่สังขาร ซึ่งวันหนึ่งก็จะเน่าเปื่อยและเสื่อมสิ้นไป จงระลึกถึงธรรมดีกว่า จะมีคุณค่าต่อชีวิตยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ศีลและธรรมเป็นหลักของมนุษย์ มนุษย์จะอยู่ได้สงบเยือกเย็นเป็นสุขก็โดยศีลและธรรม หากขาดสิ่งเหล่านี้แล้วมนุษย์ก็จะมีค่าเสมอกันกับสัตว์" พวกเราทั้งหลายที่มีจิตศรัทธาต่อท่านธมฺมวิตกฺโก จงมาระลึกถึงท่านด้วยการระลึกถึงธรรมดังที่ท่านปรารถนาเถิด เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อท่าน และเมื่อพวกเราทั้งหลายได้ระลึกถึงธรรมและปฏิบัติธรรมกันแล้ว ด้วยอานุภาพแห่งธรรมนั้น จะช่วยคุ้มครองให้ถึงซึ่งความสุขอย่างยิ่ง คือพระนิพพาน อย่างมิต้องสงสัยเลย
 
                                               .................................................. 
 

 
 
ตะกร้าพระเครื่อง

ดูตะกร้าพระเครื่อง
แจ้งการชำระเงิน
ตรวจสอบวันจัดส่ง
สถานะการส่งพระเครื่ง

พระเครื่องแนะนำ

25-2-66
พระบูชารูปเหมือนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เจริญ


โชว์ บาท

25-2-66
พระรูปเหมือนใบธิ์ เนื้อนวโลหะ ปี 2512 แบบตอกโค๊ด


30000 บาท

25-2-66
พระนาคปรกใบขนุนเนื้อชินสังฆวานร พระสวยเดิม


9500 บาท

25-2-66
พระนาคปรกใบโพธิ์ 7 เศียร พิมพ์เล็กเนื้อนวโลหะ


AC บาท
บูชาแล้ว

25-2-66
เหรียญกนกข้างพิมพ์ใหญ่บล็อก ม.มีจุด (นิยม)


18500 บาท

25-2-66
พระไตรภาคีพิมพ์รูปเหมือนใหญ่เลี่ยมทองอย่างหนา


BD บาท
บูชาแล้ว

24/2/2566
พระปิดตา พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ เนื้อผงใบลาน ฝังตะกรุด


57000 บาท

24/2/2566
เหรียญเขียวในโลง หายาก เป็นเหรียญที่ใส่ไว้ในโลงท่านฯ


โทรถาม บาท

24/2/2566
พระสมเด็จ 3 ชั้นหลังยันต์นูน (เนื้อน้ำอ้อย)พิมพ์จัมโบ้


8000 บาท

21/02/66
เหรียญหลังเต่ารุ่นแรก บล็อกยันต์เคลื่อน


48000 บาท

6/10/65
เหรียญเขียวในโลง (เหรียญเอเชียนเกมส์) หายาก


โทรถาม บาท

6/10/65
พระผงหลวงพ่อพรหม รุ่นฉลองมณฑป พิมพ์ระฆังใหญ่


โทรถาม บาท

9/8/65
พระกริ่งสายฟ้า ตอกโค๊ต 1 ตัว


โทรถาม บาท

28/06/63
พระบูชารูปเหมือนท่านเจ้าคุณนรฯ รุ่นแรกหน้าตัก 5 นิ้ว


โทรถาม บาท

27/12/61
ออกใบรับรองพระแท้ ตอนนี้ท่านสามารถออกใบรับรองพระแท้ได้แล้วนะครับ ในนามร้านศักดิ์ ตลิ่งชัน


บาท

27/12/61
ออกใบรับรองพระแท้ ตอนนี้ท่านสามารถออกใบรับรองพระแท้ได้แล้วนะครับ ในนามร้านศักดิ์ ตลิ่งชัน


บาท

27/12/61
ออกใบรับรองพระแท้ ตอนนี้ท่านสามารถออกใบรับรองพระแท้ได้แล้วนะครับ ในนามร้านหมีพูห์ ปู่ทิม


บาท

27/12/61
ออกใบรับรองพระแท้ ตอนนี้ท่านสามารถออกใบรับรองพระแท้ได้แล้วนะครับ ในนามร้านโต้ ท่าพระจันทร์


บาท

19/12/61
เหรียญหลังเต่า บล็อกยันต์เคลื่อน สภาพสวยเดิม ๆ จมูกโด่ง ผิวดี สภาพนี้หายากแล้วครับ


G บาท
บูชาแล้ว

3/10/61
พระสมเด็จวัดวิเวกวนารามหลังยันต์นูนปั้มยันต์หมึก


โทรถาม บาท

22/9/60
พระรูปเหมือนปั๊ม พิมพ์เตารีดหลังยันต์ เนื้อตะกั่วชุบทอง สภาพสวยเดิม ๆ


โทรถาม บาท

25/07/2560
เหรียญเม็ดแตง หน้าผาก 3 เส้นปีกกา หัวขีด มาพร้อมเลี่ยมจับขอบฝังเพชร


โทรถาม บาท

26-04-60
ออกใบรับรองพระแท้
ตอนนี้ท่านสามารถออกใบรับรองพระแท้ได้แล้วนะครับ ในนามร้านศักดิ์ ตลิ่งชันในสายพระเครื่องของท่านเจ้าคุณนรฯ


โทรถาม บาท

11-4-60
ขันน้ำมนต์ วัดเทพศิรินทราวาส สร้างปี 2495 สภาพสวยเดิม ๆ สร้างน้อย


โทรถาม บาท

1-2-60
เหรียญกนกข้างพิมพ์ใหญ่ เนื้อเงิน บล๊อกนิยมสวยมาก มาพร้อมตลับทอง


โทรถาม บาท

พระเครื่องแนะนำทั้งหมด